Location
ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง สมุทรปราการ
ซุ้มประตูได้รับแรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของวัดโปรดเกศฯ ซึ่งมีลักษณะผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับศิลปะจีน โดยรูปแบบเช่นนี้เริ่มแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อเนื่องมาในสมัยรัชกาลที่ 3 การวางแนวความคิดของซุ้มประตูเช่นนี้ มีเป้าหมายเพื่อรักษาภูมิทัศน์และบรรยากาศแห่งยุคสมัยของวัดโปรดเกศฯ ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้คงอยู่ โดยสามารถอยู่ร่วมกันได้กับโครงการก่อสร้างสมัยใหม่ที่ตอบสนองต่อการใช้งานอย่างใหม่ รูปทรงอาคารอ้างอิงกลับไปสู่มณฑปพระพุทธบาทภายในวัดที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของวัด โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้งาน องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ ออกแบบขึ้นจากส่วนผสมกันระหว่าง งานสถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมจีน และเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่
รูปแบบสถาปัตยกรรม ซุ้มประตูกำแพงตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัด ติดกับถนนทรงธรรม มีผังพื้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้าง 8.55 เมตร ความหนา 5.00 เมตร ช่องประตูเป็นทางเข้า – ออกรถยนต์ กว้าง 5.50 เมตร ด้านข้างซุ้มประตูเป็นกำแพงวัดและทางเข้า-ออกสำหรับคนเดินเท้า รูปแบบซุ้มประตูเป็นสถาปัตยกรรมทรงปราสาทยอดปรางค์ รูปทรงหลังคาและยอดกำกับด้วยเส้นจอมแห ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือส่วนฐานและส่วนเรือนธาตุมีระยะความสูงจากระดับพื้นถนน 7.65 เมตร สูงสุดส่วนหลังคามีระยะ 8.90 เมตร อาคารสูงรวม 16.80 เมตร องค์ประกอบสถาปัตยกรรม ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์ ถัดขึ้นมาเป็นเรือนธาตุแบบท้องไม้ยืดสูงประดับบัวลูกแก้ว ด้านบนเป็นชุดบัวหงาย ส่วนหลังคาเป็นปีกหลังคารอบทั้ง 4 ด้าน มุงกระเบื้องรางแบบจีนสลับปูนปั้นแนวลูกฟูก ส่วนยอดเป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมมีพนักระเบียงรอบประดับซุ้มพระพุทธรูปยืนด้านหน้า-ด้านหลัง ฐานนี้เทินรับยอดปรางค์ ปรางค์มีฐานสิงห์ซ้อนด้วยฐานปัทม์รับเรือนธาตุประดับซุ้มพระพุทธรูปทั้ง 4 ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นยอดปรางค์ประดับกลีบขนุนเรียบเกลี้ยง ยอดสูงสุดเป็นนภศูล ช่องประตูมีระยะความสูงจากระดับพื้นถนนถึงขอบล่างแผงแร 5.50 เมตร สำหรับให้รถขนาดใหญ่เข้า-ออกวัด ระบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กและก่ออิฐฉาบปูนทาสีขาว กำแพงวัดประดับกระเบื้องปรุเคลือบสีเขียว หัวเสาประดับสิงห์โตหิน แผงแรประดับชามกระเบื้องเคลือบสีเขียว ชื่อวัดทำเป็นตัวอักษรบุทองแดงกาไหล่ทอง วัสดุมุงหลังคาเป็นกระเบื้องดินเผาหงายแบบจีนเคลือบใส พนักระเบียงส่วนยอดประดับกระเบื้องปรุเคลือบสีเขียว หัวเสาประดับสิงห์โตหิน ซุ้มพระพุทธรูปที่พนักนี้และเรือนธาตุยอดปรางค์ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางยืน นภศูลก็เป็นสำริดเช่นกัน