' THE INTANGIBLES '

 

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม ยูเนสโก ได้มีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 World Heritage Sites หรือมรดกโลก คือ “Sites” สิ่งก่อสร้างที่ติดที่ มีอาณาบริเวณชัดเจน วัดขนาดได้ อย่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอยุธยา

แต่กว่า 30 ปีถัดมา ยูเนสโกได้เห็นความสำคัญของมิติอื่นของมรดกโลก ที่อาจไม่ได้แสดงตัวตนออกมาเป็น “Sites” เสมอไป ยูเนสโกเรียกว่า “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” หรือ “Intangible Cultural Heritage” “Intangible” แปลตรงตัวได้ว่า จับต้องไม่ได้ และรวมถึงภาษา เครื่องแต่งกาย เทศกาล การแสดง ดนตรี งานฝืมือ พิธีกรรม แม้แต่ภูมิปัญญาในการดูแลต้นไม้บางชนิด ก็นับอยู่ในนี้ด้วย “Intangible” ในที่นี้ จึงไม่ใช่ว่ามองไม่เห็น ไม่มีตัวตน แต่แค่อาจไม่ได้ปรากฏกายเป็นฟอร์ม เป็น “mass” เป็น “site” เสมอไปนั่นเอง

ในการออกแบบสถาปัตยกรรมก็เช่นกัน เราต้องคำนึงถึงการปรากฏกายของอาคาร ว่าจะรูปทรง หน้าตาเป็นอย่างไร แต่ก่อนจะปรากฏกาย ก็ยังมีมิติอื่นที่ต้องคำนึงถึงที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ และอาจจะ “จับต้องได้ไม่ง่ายนัก”

Le Corbusier ออกแบบ Notre-Dame du Haut ให้มีองค์ประกอบที่นำแสงธรรมชาติเข้ามาในลักษณะที่ต่างๆ กัน ช่องเปิดที่เล็กด้านนอกอาคาร แต่ขยายกว้างด้านใน ช่องแคบระหว่างผนังและเพดาน หรือปล่องสูงเพื่อดักแสงเข้ามาภายใน และวิธีการอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณนั้น Le Corbusier ต้องการแสงแบบไหน? ทำหน้าที่อะไร? ต้องการแสงที่แสงที่มีสีสัน หรือแสงที่จะช่วยขับพื้นผิวขรุขระของคอนกรีตให้เด่นขึ้นมา

Renzo Piano ออกแบบ Jean-Marie Tjibaou Cultural Centre ให้ใช้ประโยชน์จากลมจากธรรมชาติให้มากที่สุด ทำให้ไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ และตัวอาคารก็อ้างอิงรูปทรง ลักษณะของการเรียงตัวระหว่างแต่ละอาคาร จากวัฒนธรรมของชนเผ่าดั้งเดิมของเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิกแห่งนี้   

และเมื่อ Renzo Piano ออกแบบ Prometeo Musical Space เขานำเสนอประสบการณ์การฟังโอเปร่าแบบใหม่ ที่ผู้ชมอยู่ตรงกลาง รายล้อมไปด้วยนักดนตรีที่นั่ง เดินขึ้น - เดินลงระหว่าง 3 ชั้น ไม่ใช่แค่นั้น โครงสร้างนี้ยังปรับเปลี่ยนไปได้ตามโบสถ์ หรืออาคารอื่น ที่โครงสร้างนี้ไปแสดงอยู่ เพื่อให้ได้เสียงดนตรีที่ถูกต้อง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพราะการออกแบบสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงเสียง

เมื่อ James Corner และ Piet Oudolf ออกแบบ The High Line ในเมืองนิวยอร์ก เขาก็ตั้งใจออกแบบระบบนิเวศ และเลือกพืชพันธุ์ ให้เกิดเป็นระบบนิเวศของพืช นก และแมลง กว่า 1,500 สปีชีส์ และเพื่อให้ประสบการณ์การมา The High Line เปลี่ยนไปในทุกฤดูกาล

หรือถ้าหากเราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์สงครามโลก Imperial War Museum North เราอาจรู้สึกหลงทาง และสับสนไปหมด ก็เพราะ Daniel Libeskind ตั้งใจออกแบบให้เกิดประสบการณ์แบบนั้น เสมือนให้เราอยู่ท่ามกลางภาวะสงคราม

และผังของวัดอรุณราชวราราม ก็สะท้อนให้เห็นผังโครงสร้างความสัมพันธ์ของโลกและจักรวาล ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

แสง ลม วัฒนธรรม เสียง ฤดูกาล จิตวิทยา ความรู้สึก ความเชื่อ ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมแต่ “จับต้องได้ไม่ง่ายนัก” ยังมีองค์ประกอบ “Intangible” อื่นๆ อีกมากมาย ที่หากเราคำนึงถึงในการออกแบบสถาปัตยกรรมแล้ว สถาปัตยกรรมที่เราสร้างสรรค์ ก็คงจะกลมกล่อมมากขึ้น เหมือนที่ตอนนี้ เราได้ชื่นชมกับมรดกของโลกเรา ทั้งที่เป็น “Sites” และที่ไม่ปรากฏกายเป็น “Sites” แต่มาในรูปแบบที่ “Intangible” นั่นเอง

 

 

 

 

 ดาวน์โหลดสูจิบัตร