[ TH ]
[ EN ]
ปณิธาน
“รากฐานของนวัตกรรมแห่งการออกแบบ”
วิสัยทัศน์
Incubating designers and creative thinkers for a sustainable future through multidisciplinary architecture and built environment
บ่มเพาะนักออกแบบและนักคิดเชิงสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ด้วยสหวิทยาการทางสถาปัตยกรรม และสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง
ปรัชญา
“สืบสาน สร้างสรรค์สู่สากล”
พัทธกิจ
-
- ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะทางสถาปัตยกรรมขั้นสูง และทักษะในศตวรรษที่ 21 ทุกมิติ เพื่อเป็นนักออกแบบ และนักคิดเชิงสร้างสรรค์ และสร้างประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
- ส่งเสริมการออกแบบ การวิจัย และการบริการวิชาการ บนฐานความเชี่ยวชาญเชิงลึกและการบูรณาการสหวิทยาการทางสถาปัตยกรรม เพื่อส่งมอบคุณค่าผ่านการพัฒนาและแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน สังคม ประเทศ บนฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม
- ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การจัดการองค์ความรู้ และส่งเสริมพัฒนาบนฐานอนุรักษ์มรดกชาติและนานาชาติ ขับเคลื่อนการต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพื่อประโยชน์แก่ชุมชน สังคม
ค่านิยม
TRUST
T - Think Creatively
R - Resilience
U - Unity
S - Societal Contributions
T -Treat others with respect
วัฒนธรรมองค์กร
สร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างมีสุนทรียภาพ เคารพในความหลากหลาย และสร้างประโยชน์ให้สังคม
สมรรถนะหลัก
1) ผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการออกแบบและเป็นนักคิดที่มีความรู้สหวิทยาการสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมสรรค์เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
2) ดำเนินการวิจัย และให้บริการวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมสรรค์สร้างที่มีความเชี่ยวชาญขั้นสูง และมีความรู้เชิงสหวิทยาการ ตลอดจนมีสุนทรียภาพและมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม
3) หลักสูตรมีความหลากหลาย และมีความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนภาคราชการ ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนศิษย์เก่า
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พุทธศักราช 2498 ในนาม “คณะสถาปัตยกรรมไทย” ที่บริเวณวังตะวันออกของเจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราบปรปักษ์ และพลเรือโทพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์กรมหมื่นปราบปรปักษ์ เจ้ากรมช่างสิปป์หมู่ โดยมีพระพรหมพิจิตรดำรงตำแหน่งคณบดี และอาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ เป็นผู้ช่วยคณบดีทำหน้าที่คล้ายเลขานุการ
ระยะแรกเริ่มการก่อตั้งเปิดสอนในระดับอนุปริญญา 3 ปีการศึกษา และมีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา ดังนี้
พ.ศ. 2501 - 2507
ขยายหลักสูตรการศึกษาต่อไปจนถึงระดับปริญญาตรีในหลักสูตร “ศิลปบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย” ใช้ระยะเวลาศึกษา ตลอดหลักสูตรทั้งสิ้น 5 ปี ตามระบบสากลนิยม (สมัยศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์ ดำรงตำแหน่งคณบดี)
พ.ศ. 2509
เปลี่ยนชื่อคณะวิชาเป็น “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” และชื่อหลักสูตรการศึกษา เป็น “สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต” (สมัยนาวาเอก สมภพ ภิรมย์ ร.น. ดำรงตำแหน่งคณบดี)
พ.ศ. 2516
เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย
พ.ศ. 2517
เปิดสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบชุมชน
พ.ศ. 2522
ปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย เพื่อเตรียมการเปิดสอนหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต
พ.ศ. 2524
เปลี่ยนชื่อหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต “สาขาวิชาออกแบบชุมชน” เป็น “สาขาวิชาการออกแบบชุมชนเมือง” เพื่อให้ตรงกับความหมายของ คำว่า “Urban Design” และเปลี่ยนชื่อจาก“ภาควิชาออกแบบชุมชนและผังเมือง” เป็น “ภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง” ตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์อุดมศึกษา ราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. 2529
เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
พ.ศ. 2530
เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการงานก่อสร้าง
พ.ศ. 2538
เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลักสูตร คือ หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย
พ.ศ. 2542
เปิดหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย และคณะฯ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดเตรียมกำลังคน ด้านสถาปัตยกรรมไทย จึงดำเนินโครงการสถาปัตยกรรมไทยปริวรรตขึ้นเพื่อรับนักศึกษาเข้าศึกษาโดยตรง และจัดการเรียนการสอนที่ อาคารศิลป์ พีระศรี 1 วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
พ.ศ. 2543
เปิดสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
พ.ศ. 2545
เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ ในระดับปริญญามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และหลักสูตร ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว
พ.ศ. 2547
เปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น
พ.ศ. 2548
เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโครงการก่อสร้าง (เดิมชื่อสาขาวิชาการจัดการงานก่อสร้าง)
พ.ศ. 2549
เปิดสอนหลักสูตรการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อมมหาบัณฑิต
พ.ศ. 2551
เปิดสอนหลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบทางสถาปัตยกรรม และหลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต
พ.ศ. 2554
ปิดหลักสูตรอนุปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรมและสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย
พ.ศ. 2555
บรรจุหลักสูตรใหม่ไว้ในแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม