ศิษย์และครู

 

อาจารย์วีระ เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของอาจารย์อรศิริ และหลังจากที่เรียนจบปริญญาโท อาจารย์วีระก็ได้มาสอนที่คณะ ในภาควิชาเดียวกัน ทำให้ศิษย์และครู กลายมาเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

01

 

ลูกศิษย์มากมายหลากหลายรุ่น จึงได้มีโอกาสเรียนกับทั้งอาจารย์อร และอาจารย์วีระ ในหลากหลายวิชา

ความโชคดีของเหล่าศิษย์ ก็คือ นอกจากอาจารย์ทั้งสองท่าน จะใจดี แทบไม่เคยดุใครเลย อาจารย์ทั้งสองท่าน ยังมีอุดมคติหรือหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งความเป็นตัวตนที่คล้ายคลึงกันของ “ครู” ทั้งสองท่านนี้ ก็ได้ถูกปลูกฝังและถ่ายทอดมายังศิษย์ด้วย แม้เราจะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้างก็ตาม

 

 02

 

แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดสิ่งหนึ่ง เห็นจะเป็นความ ง่ายและงาม ของความคิด และการปฏิบัติตนต่อทุกคนรอบตัว ไม่ว่าผู้คนเหล่านั้น และเป็นศิษย์โดยตรง หรือผู้คนแปลกหน้าที่มาขอความรู้เป็นครั้งคราว จนนานเข้า ก็กลายเป็นศิษย์โดยตรงไปโดยปริยาย ความอ่อนน้อม ถ่อมตน ทั้งในด้านวิชาความรู้ และการปฏิบัติตนในสังคม ทำให้พวกเราเหล่าศิษย์ คุ้นชินกับความ ง่าย งาม และความพอดี ตลอดจนความพึงพอใจต่อสิ่งรอบตัวของอาจารย์

สิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเราได้เรียนรู้จากอาจารย์ คือความ เอื้อเฟื้อ ในวิชาความรู้ต่อทุกคน และความ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่ทั้งอาจารย์อร และอาจารย์วีระ ได้ปลุกปั้น หลักสูตร และการเรียนการสอนในสาขา สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น น่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่เราได้เห็นการตกผลึกอย่างแท้จริง ของความคิดและวิธีการทำงานของอาจารย์ทั้งสอง ที่พยายามจะโยงความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรม และสิ่งที่เราเรียกกันว่า วิถีชีวิต โดยชี้ให้เรามองสิ่งรอบตัวให้ละเอียดอ่อนขึ้น

 

 03

 

ทุกวันนี้ อาจารย์วีระ ก็ยังชวนอาจารย์อร ออกไปวาดรูป อยู่เรื่อยๆ โดยมีลูกศิษย์หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ากัน ติดสอยห้อยตามไปด้วย หลายๆ ครั้ง อาจารย์ออกไปวาดรูป ในสถานที่ ที่มันแสนจะธรรมดา ไม่ได้ดูมีอะไรพิเศษเลย แต่ทั้งอาจารย์วีระ และอาจารย์อร ก็หามุม วาดรูปออกมาได้ไม่เหมือนใครทุกครั้ง อาจารย์ทั้งสองพูดเสมอ ว่า ความงามในสิ่งธรรมดาๆ รอบตัวนี่แหละ ที่เราต้องฝึกมองให้เห็นจนเป็นนิสัย เราจะเป็นสถาปนิก เราต้องเข้าใจคน เข้าใจสิ่งง่ายๆ ที่ประกอบกันเป็นสภาพแวดล้อมของเค้า ว่ามันมีเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้มันเป็นแบบนั้น และเมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็จะค้นหาสมดุลย์ในการทำงานกับคน และกับความต้องการของเค้าได้ ผลพวงจากการเดินทางวาดรูปนี้ ได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่มเล็ก ชื่อ ร่ายเส้นสัญจร ด้วย

 

 04

 

อาจารย์อร เคยพูดไว้ว่า การศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นน่ะ ไม่ใช่เพื่อให้เราได้ค้นหาสิ่งแปลกที่ไม่เคยมีใครรู้ ไม่ใช่เพื่อเก็บข้อมูลมาเยอะๆ ไม่ใช่เพื่อให้เราเอาข้อมูลนั้นมาชื่นชม ว่ามีสิ่งนี้อยู่ในโลก แต่เพื่อให้เราเข้าใจคน เข้าใจสังคมวัฒนธรรม ตั้งแต่ระดับเล็กที่สุดของครัวเรือน ไปจนถึงการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง และเมื่อเราเข้าใจคนอื่น ผ่านวัฒนธรรมที่หลากหลาย เราจะสามารถมองย้อนกลับมา เข้าใจตัวเราเองได้ดีขึ้น อย่างที่เราไม่เคยมองมาก่อน ซึ่งการฝึกฝนในการมอง และทำความเข้าใจนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญ ไม่ใช่แต่สำหรับสถาปนิก แต่สำหรับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สำหรับเราทุกคนด้วย เพราะการไม่พยายามทำความเข้าใจคนอื่นน่ะ มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นแก่ตัวเลยทีเดียว เมื่อเราเข้าใจ ความเอื้อเฟื้อ ทั้งในด้านความรู้ และการปฏิบัติ มันก็จะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ

จนทุกวันนี้ เราก็ยังเห็นภาพ ศิษย์และครู ทั้งสองท่านนี้ ออกเดินทางไปยังสถานที่ธรรมดาๆ ที่เดินทางไปง่ายๆ เพื่อไปค้นหาความเข้าใจใหม่ๆ ที่ทั้งสำหรับอาจารย์อร และอาจารย์วีระ ความสนุกในการค้นหา คงจะเป็นการเดินทางต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ปล. เพื่อค้นหาความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสภาพแวดล้อมของเรา หลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่อาจารย์ทั้งสองท่านเป็นผู้วางรากฐาน เปิดรับสมัครทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งเปิดรับผู้ที่เรียนจบทุกสาขา

 

#archsu #landscape #mlasu #silpakorn #ภูมิสถาปัตยกรรม #ภูมิสถาปัตย์ศิลปากร #สถาปัตย์ศิลปากร