ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท

 

นี่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเริ่มสนใจเมือง มันมีอะไรหลายอย่างที่ใกล้เข้ามา เป็นสาระสำคัญที่กระทบถึงทุกคน

ถ้าหากพูดถึงเมือง ทุกคนคงมองไปที่ภาพกว้าง ๆ มีตึกสูง มีอาคารเยอะแยะ แต่ถ้าหากพูดถึงชุมชนเมือง และการออกแบบชุมชนเมือง เชื่อว่าหลายคนคงมีภาพของชีวิต ผู้คน กิจกรรม ประกอบอยู่ในภาพนั้นด้วยแน่ ๆ วันนี้แอดพาทุกคนมาพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท แห่งภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมืองกัน ซึ่งแอดเชื่อว่า ทุกคนคงจะได้เข้าใจถึงคำว่าการออกแบบ ชุมชน และเมืองได้มากขึ้นแน่ ๆ ส่วนตัวแล้วแอดชอบภาควิชานี้มาก เราจะได้ไปพูดคุย ทำความเข้าใจถึงพื้นที่ และผู้คน สนุกและน่าสนใจมาก ๆ

 

s1resize

 

รบกวนอาจารย์เล่าถึง Background ให้ฟังหน่อยครับ

ตอนเรียนจบปริญญาตรีสถาปัตย์ ก็คิดอยากจะเรียนต่อ อยากเรียนรู้อะไรที่ต่างไปจากเดิม สเกลที่ใหญ่ขึ้นจึงได้มาเรียนที่นี่ พอเรียนจบโทก็อยากเรียนต่อปริญญาเอก เพราะเรียนแล้วชอบ พอดีที่นี่เปิดรับสมัครอาจารย์ ตอนนั้นทำงานไปได้สักพัก ก็ขอทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ Oxford Brookes

 

เพราะอะไรทำไมถึงสนใจทางด้านการออกแบบชุมชนเมืองครับ

พอเริ่มได้เรียน และได้เริ่มทำงานสอนทางด้านนี้ ชอบเพราะมิติในการคิดมันต่างจากตอนที่ทำงานอย่างอื่น มันกว้างกว่า และเป็นงานเชิงกระบวนการ คืองานออกแบบชุมชนเมืองมันต่างจากการออกแบบสถาปัตยกรรมเลยนะ เพราะงานสถาปัตยกรรม ตัว Final product คือแบบทางสถาปัตยกรรม แต่งานทางออกแบบชุมชนเมืองเราไม่ได้ทำแบบพวกนี้ เราคิดและประสานงานกับหลาย ๆ ฝ่าย สร้างภาพอนาคตของเมือง หลาย ๆ ฝ่ายก็นำภาพตรงนี้ไปทำต่อ

 

s2

 

การออกแบบชุมชนเมือง กับการวางผังเมืองแตกต่างกันอย่างไรครับ

จริง ๆ แล้วมันอยู่ใน Scope งานเดียวกัน คำไทยอาจจะเข้าใจยากหน่อย วางผังเมือง คือ Urban Planning แต่ออกแบบชุมชนเมืองคือ Urban design ผังเมืองจะมองที่ภาพกว้างของเมือง การเติบโตของเมือง มันจะเติบโตไปในทิศทางไหน แต่พอ Urban design เนี่ย จะเจาะลงไปในพื้นที่ แล้วออกแบบอย่างไร ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นของที่ศิลปากร ซึ่งเปิดสาขานี้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

ภาพถ่ายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท

 

s3

 

ตัวอย่างภาพการออกแบบชุมชนเมืองที่ดี หมายถึงอะไรครับ

เราก็ต้องตีความคำว่า “ดี” มันดียังไง โดยพื้นฐานแล้วถ้าจะบอกว่าอะไรดีไม่ดี มันต้องตอบสนองความต้องการของเรา อย่างถ้าเราต้องการเมืองที่สวยงามมั้ย อย่างที่บอก กรุงปารีสเนี่ยใช่ มีเส้นแกน ถนนที่สวยงาม ถึงแม้การเกิดขึ้นจะไม่ได้ต้องการมุ่งไปที่ความสวยนะ ในประวัติศาสตร์เกิดจากการปราบจลาจล การเดินทางของพระสันตะปาปา แต่ออกมาก็เกิดเส้นแกนที่สวยงาม

หรือจะพูดถึงความดีในแง่ที่ว่า เมืองมีเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรมที่ดีคงอยู่ เมืองที่ได้รับการอนุรักษ์ที่ดีมีเยอะแยะเลย เช่น ในอังกฤษก็เมือง ยอร์คเชียร์

ถ้าจะพูดถึงเมืองที่ดีที่ตอบสนองการใช้พื้นที่ของคน ตัวอย่างเจ๋ง ๆ ก็ นิวยอร์กไทม์สแควร์ ที่แต่เดิมเป็นถนนรถวิ่ง ลองปิดถนน เอาเก้าอี้มาตั้ง เออเวิร์ค คนชอบ ก็ปิดถนนถาวรเลย ช่วยลดอุบัติเหตุ รถวิ่งช้าลง เค้ากล้าหาญมาก ๆ เลยนะ แต่เค้าใช้เทคนิคที่เรียกว่า Tactical Urbanism คือ การเปลี่ยนแปลงเมืองเนี่ยจริง ๆ มันยากนะ ยูสเซอร์เยอะ จะเปลี่ยนแปลงถาวรต้องลงทุนสูง ความเสี่ยงผลกระทบเนี่ยคาดเดาไม่ได้ ก็ลองใช้เทคนิคนี้มาปรับดู

พอพูดถึงตรงนี้ คุณจะเริ่มเห็นว่านี่คือ Urban design แต่มันไม่ใช่การทำแค่คนเดียว Urban designer ลงไปช่วยคิด ช่วยวางแผน และสุดท้ายแต่ละฝ่ายมาช่วยกัน เราก็เป็นกลไกตรงกลางขับเคลื่อน

ภาพถ่ายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท

 

s4

 

คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการออกแบบชุมชนเมืองช่วยได้อย่างไรบ้าง

จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก มันอยู่ที่เราอยากอยู่ในเมือง อยากใช้ชีวิตในเมืองอย่างไร โดยพื้นฐานเมืองตอบสนองเราได้อย่างไร มี Live, Work, Play, Share, Experience

Live ก็คือ มีแหล่งอยู่อาศัย

Work มีแหล่งงานใกล้กัน การเดินทางสัมพันธ์กัน

Play มีพื้นที่พักผ่อน

เอาแค่สามคำแรก ในย่านชุมชนเมืองที่มีทั้งสามคำนี้อยู่ด้วยกัน มันน้อยมากเลย

Share เป็นพื้นที่พบปะเจอกัน รองรับวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่รุ่นเก่าอยู่ด้วยกันได้

Experience มีประสบการณ์ในเมืองที่ดี

ถ้าสำหรับผม มี 5 เรื่องนี้ ถือว่าตอบรับคุณภาพชีวิตของคน และเรื่องพวกนี้เราไม่ได้มองในภาพกว้าง ๆ แต่ในย่านชุมชนมันควรมีเรื่องพวกนี้

เรามีคำหนึ่งเรียกว่า Sense of place การออกแบบชุมชนเมืองช่วยในเรื่องนี้ เพราะเอื้ออำนวยให้คนออกมาใช้งานได้ มีการใช้งานที่ปลอดภัย เกิดความอบอุ่น และเกิดการใช้งานทั้งตอนกลางวันและกลางคืน ซึ่งจะเกิดความผูกพัน ทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่มีคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งของเรา

งานดีไซน์วีคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งผมถือว่าเป็นหนึ่งใน Tactical Urbanism นะ เป็นการทดลองเปลี่ยนแปลงชั่วคราว เป็นการสร้าง Sense of place ให้มีขึ้นมา เพราะเราจะเห็นว่าพื้นที่และกิจกรรมไม่ตอบสนองให้คนออกมาใช้งาน Outdoor space ก็ใส่กิจกรรม ใส่งานศิลปะ เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม บรรยากาศให้ดีขึ้น นั่นล่ะกำลังสร้าง Sense of place เลย

ภาพถ่ายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท

 

s5

 

นักออกแบบชุมชนเมือง ทำงานอะไรบ้างครับอาจารย์

นักออกแบบชุมชนเมืองหลัก ๆ จะทำงานกระบวนการ อย่างถ้าในภาครัฐ ก็จะลงไปทำการวางผังเฉพาะของย่าน พื้นที่ต่าง ๆ บางอันก็เป็นโปรเจคเฉพาะของภาครัฐ อย่างที่ผ่านมาก็จะคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษ มันก็ต้องการออกแบบระดับเมืองว่าพื้นที่จะเปลี่ยนแปลงไปทางแบบไหน

ถ้าอยู่ในภาคเอกชน ก็จะมีบริษัทที่ปรึกษา ดูความเป็นไปได้ในการลงทุน หรืองานชุมชนที่ต้องอนุรักษ์ไว้ จะทำอย่างไร

งานขับเคลื่อนชุมชนเลยก็ทำได้ ชุมชนที่อยู่อาศัย การมีส่วนร่วมเป็นเรื่องน่าสนใจ ซึ่งสาขาอื่นจะไม่ค่อยได้ลงมาคลุกคลีกับพื้นที่กับคน ซึ่งทำได้อีกหลายอย่าง

 

รบกวนอาจารย์เล่าถึงโปรเจคที่สนุก ๆ ให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ

ผมทำงานสายวิชาการ ซึ่งเป็นอีกลักษณะหนึ่ง เข้าไปจัดการในช่องว่างระหว่างภาครัฐกับชุมชน อย่างภาครัฐต้องการพัฒนาอย่างไร และชุมชนเค้าก็รู้ว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งช่องว่างตรงนี้ที่เป็น Gap มันไม่มีใครเข้าไปจัดการ ที่เคยทำมาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของที่อยู่อาศัย จะต้องเปลี่ยนแปลงในรูปแบบแบบไหน ซึ่งหลายฝ่ายไม่รู้จะต้องเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน ที่จะตอบสนองผู้ใช้งานกลุ่มเดิมด้วยและกลุ่มใหม่ด้วย

อย่างล่าสุดทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องแผนแม่บทเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี เมืองมีการเปลี่ยนแปลง มีทรัพยากร ทั้งด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ แต่เมืองจะจัดการการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่อย่างไร เป็นช่องว่างทางความคิดที่เกิดขึ้น และเราต้องเข้าไปทำงานตรงจุดนั้นให้สังคม

หรือที่เพิ่งทำจบไปก็เป็นการหาอัตลักษณ์ของเมือง เมืองมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วอัตลักษณ์เราเปลี่ยนแปลงไปด้วยมั้ย

ภาพ : ผลงานของทีมวิจัยในโครงการแผนแม่บทการจัดการเชิงพื้นที่ของการท่องเที่ยวเมืองเพชรบุรี

 

s6

 

อุปกรณ์ที่อาจารย์ต้องมีติดตัวคืออะไรครับ

ส่วนใหญ่เวลาเราทำงานจะเป็นการลงพื้นที่ ก็จะมี กล้องถ่ายภาพเนี่ยสำคัญ เอาไว้เก็บข้อมูล Space-Form ของเมือง และสมุดโน้ตสำหรับจดโน้ต จดประเด็นของเมืองว่าเกิดอะไรขึ้น

และก็ใช้ “สายตา” ของตัวเอง ซึ่งสำคัญมาก ๆ พอเรามองภาพของเมืองแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน อย่างถ้าสถาปนิก เราสนใจในเรื่องของอาคาร คนที่ชอบชุมชนก็มองชุมชน แต่พอเป็นเมืองเนี่ย เรามองเรื่อง “คน” กับ “พื้นที่” ใคร มาใช้พื้นที่ตรงไหน เพราะอะไร

ภาพถ่ายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท

 

s7

 

อยากฝากอะไรถึงคนที่สนใจศาสตร์ทางด้านการออกแบบชุมชนเมืองบ้างครับ

เรื่องเมืองเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และหลัง ๆ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ตอนนี้ประเด็นที่เราคุยกับอย่าง Urban disruption, Climate change, Big data ประเด็นเหล่านี้มันเปลี่ยนแปลงเยอะ และน่าสนใจเยอะมาก อยากทิ้งท้ายว่านี่เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเริ่มสนใจเมือง มันมีอะไรหลายอย่างที่ใกล้เข้ามา เป็นสาระสำคัญที่กระทบถึงทุกคน