ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิบูลย์  จินาวัฒน์

 

ทำไมสถาปนิกถึงต้องเรียนวิชาโครงสร้างทางวิศวกรรมสุดหินขนาดนั้น หาคำตอบได้ในภาควิชาเทคนิคสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เรื่องสถาปัตยกรรมลึกซึ้งมากกว่าแค่คำว่าความงาม

เคยมีคำกล่าวไว้ว่า หากสถาปัตยกรรมคือผิวหนัง ระบบภายในและกระดูกก็เสมือนงานวิศวกรรม ภาควิชาเทคนิคสถาปัตยกรรมนี้จึงเกิดขึ้น

วันนี้เรามีโอกาสได้มาสนทนากับอาจารย์พิบูลย์ หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิบูลย์  จินาวัฒน์ แห่งภาควิชาเทคนิคสถาปัตยกรรม

 

p1

 

จากวิศวกรหนุ่มไฟแรง สู่อาจารย์อาวุโสผู้มากประสบการณ์ วิศวกรกับงานสถาปัตยกรรมไทย เทคโนโลยีกับงานศิลปะ และคำถามชวนสงสัยตลอดการเรียน ทำไมสถาปนิกถึงต้องเรียนวิชาโครงสร้างทางวิศวกรรมสุดหินขนาดนั้น หาคำตอบได้ในภาควิชาเทคนิคสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เรื่องสถาปัตยกรรมลึกซึ้งมากกว่าแค่คำว่าความงาม

 

สวัสดีครับ อาจารย์เริ่มสอนหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

ผมมาทำงานที่นี่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2518 หลังจากที่ผมจบมาแล้ว 8 ปี ตอนที่เรียนจบปริญญาตรี ใหม่ๆ ทำงานเป็น design engineer 3 ปี ที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จากนั้นในปี 2513 มีทุน Colombo plan ให้ไปเรียนต่อปริญญาโทจนถึงปริญญาเอก ที่ต่างประเทศ ผมเลือกไปอังกฤษแล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิลปากร มาเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

 

p2

 

ทำไมสถาปนิกจึงต้องรู้เรื่องเทคนิคสถาปัตยกรรมขนาดนี้ครับ

เอาง่ายๆ คุณดูแค่ตอนสอบ กส.สิ ใช้เป็นมาตรฐานสากลว่าเราต้องรู้ ผมเคยลิสต์มาให้ลูกศิษย์ดูได้เป็น 20 ข้อ เรียนกันหัวโตละพวกคุณ เรียนสะสมอย่างละนิดอย่างละหน่อยตั้งแต่กฎหมาย สิ่งแวดล้อม แสงแดด ลม ไม่ว่าคุณจะชอบทางไหน ทางวิศวกรรมทางเทคนิคมากหน่อย หรือค่อนไปทางการเป็นศิลปิน แต่คุณก็ต้องรู้ เหมือนปั้นหุ่น เพราะปั้นหุ่นเนี่ยต้องมีโครงแล้วจึงมีเนื้อหนังที่สวยงาม

 

p3

 

เทคนิคสถาปัตยกรรมผสมผสานกับการออกแบบอย่างไรบ้างครับ

อย่างเรื่องเบสิคเลย คุณออกแบบบ้าน ทำไมต้องมีบัวผนัง แล้วบวกกับเรื่องศิลปะทำไมส่วนใกล้พื้นควรเป็นสีอะไร วัสดุอะไรเปื้อนง่าย หรือแม้แต่ตึกหลังนึง คุณออกแบบโครงสร้างหรือเลือกใช้วัสดุอย่างไรให้มันสวยงามไปตามอายุ ไม่เชยไปเสียก่อน คุณต้องมีความหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องสี วัสดุ ช่องเปิด อีกเยอะมาก หรือแม้แต่เรื่องของราคาที่เราจะช่วยลูกค้าให้ประหยัดลงได้ พวกคุณควรรู้ว่าเราเรียนรู้จากเงินคนอื่นนะ ทำออกมาให้ดี

 

p4

 

อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าเรื่องเทคนิค หรือเทคโนโลยี นวัตกรรมกับงานสถาปัตยกรรมไทยหน่อยครับ

สิ่งที่คำนึงถึงอย่างแรกๆ เลย ด้วยความที่งานหรืออาคารทางศาสนา ส่วนมากสร้างขึ้นจากแรงกายแรงใจและเงินศรัทธาทั้งนั้น เรื่องของการดูแลรักษาสำคัญมาก ผมยกตัวอย่างยอดเจดีย์มหามงคลบัวที่มีไฟออกมากันเครื่องบินชนเนี่ย คิดอยู่นานมากทำยังไง ถ้าติดไฟไปมันก็อยู่ได้ไม่นานต้องขึ้นไปเปลี่ยน ลูกศิษย์ลูกหาวัดใครจะขึ้นไปเปลี่ยนได้ยอดสูงขนาดนั้น ผมก็ใช้ไฟเบอร์ออปติก ขึ้นไปต่อสายลงมาแล้วเครื่องคอนโทรลไฟอยู่ข้างล่าง ยิงแสงเข้าไปในโถคริสตัล เนี่ยอย่างนี้ไม่มีใครสอน มันต้องเกิดจากประสบการณ์และดัดแปลง แก้ปัญหาใช้งาน

 

[ ไฟเบอร์ออปติก (Optical fiber) หรือ ใยแก้วนำแสง เป็นแก้วหรือพลาสติกคุณภาพสูง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งแสงจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่ง ]

 

p5

 

จิตวิญญาณในงานสถาปัตยกรรมไทยกับเทคโนโลยีสามารถไปด้วยกันได้อย่างไรครับ

คุณนั่งอยู่ตรงนี้เนี่ย อยากได้ฟอร์มอะไร โมเดลแบบไหน รูปร่างอย่างไร บอกผมมาได้เลย ผมถอดแบบให้คุณได้เลย เหมือนที่บอกว่าเรื่อง sense เรื่องจิตวิญญาณเนี่ย ครูหรือสถาปนิกที่ทำงานไทย บางทีต้องใช้ไม้สัก ไม้สักทอง ช่อฟ้าต้องใช้ไม้แบบนั้น หางหงษ์ใช้ไม้แบบนี้ เพราะวิธีการทำ การฟันช่อฟ้าหรืออะไรก็แล้วแต่ ผมก็แนะนำว่า วัสดุพวกนี้บางทีมันจะผุ ต้องมีการซ่อมบำรุงด้วยวัสดุแบบเดิม แต่ถ้าเราใช้วัสดุอื่นที่ทดแทนได้ง่ายมาทำ แล้วเก็บของจริงเอาไว้ให้ลูกหลานได้ดู ได้ศึกษา ส่วนกรรมวิธีการทำเราก็เขียนรูปแบบการทำขึ้นมาใหม่ส่งต่อให้ช่างที่เข้ามาบำรุงรักษา หรือวิธีการทำงานศิลปะ วัสดุสมัยก่อนใช้แผ่นหนังทุบขึ้นลายซึ่งมันหนา ลายไม่ชัด ทุกวันนี้ก็ใช้วัสดุที่บางลง ช่วยเอื้อให้การทำงานง่ายขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ อยู่ที่เราจะชั่งน้ำหนักทางใดมากกว่า มันดีทั้งสองแบบ ผมก็เข้าใจนะ

 

p6

 

ระบบโครงสร้างในงานสถาปัตยกรรมไทยพลิกแพลงหรือยากกว่าโครงสร้างธรรมดามั้ยครับ

รายละเอียดต่างกันนะ มองโครงสร้างหลักให้ออก คุณลองนึกถึงโต๊ะเก้าอี้ เหมือนที่ผมบอกไว้ว่าไม่ได้ต้องการให้คำนวนเก่งขนาดนั้น แต่อยากให้จับหลักของมันมาใช้ มาปรับ มาดัดแปลงให้เข้ากับสิ่งต่าง ๆ

อย่างปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นมีการใช้ prefab หรือ prefabricated building ฉะนั้นเลยต้องถามก่อนว่างานสถาปัตยกรรมไทยนั้นอยากได้ sense หรือ form ถ้าจะเอาแค่ form เนี่ยทุกวันนี้มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาทำให้การทำงานง่ายขึ้นมาก แต่ถ้าจะเอา sense เนี่ย เราต้องคุยกันยาว ทุกวันนี้ทั้งเรื่องของวัสดุ หรือวิธีการทำ หรือแม้แต่ฝีมือช่างที่ทุกวันนี้เริ่มหายากขึ้น มันเลยต้องคุยกันยาวหน่อย

 

[ Prefab หรือ prefabricated building หมายถึงการผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นให้เสร็จก่อนนำมาติดตั้งที่หน้างาน ]

 

p7

 

อาจารย์มีเทคนิคหรือแนะนำวิธีการเรียนรู้อย่างไรบ้างครับ

ตอนที่ผมไปอบรมการอนุรักษ์ที่ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งเรียนภาษาก่อน 3 เดือน ตอนนั้นเดินจนเข้าใจสัดส่วน วัสดุ ศิลปะ สถาปัตยกรรมอ่านให้ออก เหมือนคุณเรียนอยู่ที่นี่คุณเดินผ่านวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ คุณจะถูกกลืนเข้าไป ความรู้จะอยู่รอบตัวคุณไปหมด แต่คุณต้องอ่านให้ออกนะ แล้วสิ่งรอบตัวคุณจะบอกคุณเอง

ผมไปทริปแล้วสเก็ตช์ภาพ ๆ นึง แล้วถามไกด์ว่านี่อิทธิพลยุค Renaissance นี่ สัดส่วนเอย ช่องเอย ผมเลยอยากให้คุณอ่านให้ออก

 

p8

 

อุปกรณ์ติดตัวที่อาจารย์มีติดไว้ตลอด

ผมจะบอกให้ว่าคนโบราณเค้าสอนยังไง คนโบราณหรือวิศวกรโบราณ เค้าจะสอนให้รู้จักตัวเองอย่าง 1 คืบ คือเท่าไร อย่างของผม 1 คืบคือ 20 เซนติเมตร 1 ก้าวของผมคือ 66 เซนติเมตร ผมเคยจับเวลาตัวเอง 8 นาทีกี่กิโล ใช้ความเร็วในการเดินที่ 4 กม/ชม. จะได้ 500 เมตร เวลาคุณไปไหนที่ไม่มีเครื่องมือ คุณใช้สเกลตัวเองเนี่ย จะไม่คลาดกันมากหรอก คนโบราณเค้าเป็นกันแบบนี้

เหมือนไปกินก๋วยเตี๋ยวแห้งสามน้ำสี่ พ่อค้าแม่ค้าคิดราคาฉับออกมาเลย ไม่ต้องมีเครื่องคิดเลข มันอยู่ในตัวเลย

 

p9

 

อาจารย์อยากฝากอะไรถึงนักศึกษาหรือผู้สนใจทางด้านเทคนิคสถาปัตยกรรมครับ

“ถ้าผิวหนังคืองานสถาปัตยกรรม กระดูกและโครงสร้างภายในคือเทคนิคสถาปัตยกรรมนั่นแหละ”

เคยมีนักศึกษามาถามผมว่า ตึกสูงเท่านี้ เสาหนาเท่าไรดี ถ้าคุณไม่รู้จริง ๆ นะ ใช้ความรู้จากการสังเกต คุณลองออกแบบจากสัดส่วน มันคือเรื่องของ proportion อย่าไปหลงตัวเลข คร่าวๆ เลยอย่างน้อยคุณออกแบบมาได้แล้ว นำมาคำนวนต่อให้แน่ใจ ผมเชื่อเลยมันต่างกันไม่มาก ผมไม่เชื่อเรื่องการท่องจำ ถ้าคุณรู้ concept มันคุณทำงานออกแบบได้ ใช้ความรู้ตรงนั้นมากหน่อย ตรงนี้นิดหน่อย แล้วคำนวนเพื่อเช็คให้ถูกต้อง ออกไปทำงานจริงคุณก็เลือกใช้ความรู้ที่เหมาะสม

ที่ผมสอนเนี่ย ผมไม่ได้สอนให้พวกคุณไปคำนวณแข่งกับวิศวกร แต่ผมอยากให้คุณมี sense ที่จะทำให้โครงสร้างมันออกมาอยู่ได้และสวยงาม

 

#archsu #silpakorn #สถ #สถาปัตย์ #สถาปัตย์ศิลปากร #เทคนิคสถาปัตยกรรม