How Many Minutes City - กรุงเทพมหานคร “เมืองกี่นาที?”: episode 1 เราเข้าถึงสวนได้ในกี่นาที?
ปิยา ลิ้มปิติ, ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์
แนวคิดเมือง 15 นาที คือ แนวคิดการพัฒนาเมืองโดยรองศาสตราจารย์ คาร์ลอส โมเรโน (Carlos Moreno) แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ซึ่งได้รับรางวัล Obel Award ในปี คศ. 2021 ที่ให้ผู้คนในเมืองเดินทางระยะทางไกลน้อยลง และใช้ชีวิตในละแวกบ้านมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่าส่งเสริมให้เกิดแนวคิด “ชุมชนโดยสมบูรณ์” โดยส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงแหล่งงาน สถานศึกษา กิจกรรมทางสังคม สาธารณูปโภค และสาธารณูปการที่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิตได้ในการเดินเท้าหรือปั่นจักรยาน 15 นาทีจากบ้านของเรา หรือเท่ากับประมาณ 1.2 กิโลเมตร (ในความเร็วแบบปกติตามมาตรฐานสากล) แนวคิดดังกล่าวได้รับความรู้จักอย่างกว้างขวางภายใต้เคมเปญการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองปารีสของ Anne Hidalgo ในปี คศ. 2020 ซึ่งเป็นการนำเสนอหนึ่งเพื่อแก้ไขวิกฤต COVID-19
แนวคิดนี้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อเมืองโดยเอาเวลาเป็นที่ตั้งหรือที่เรียกว่า “Chrono-urbanism” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนเมืองลดเวลาในการเดินทางและเพิ่ม “ความสามารถในการเข้าถึง” พื้นที่รองรับกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ในระยะสั้น หัวใจสำคัญคือความใกล้ (Proximity) ที่ไปถึงได้ในระยะเดินเท้าหรือปั่นจักรยาน ความหลากหลายของการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผสมผสานทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งงาน (Diversity) ความหนาแน่นของผู้อยู่อาศัยที่มีจำนวนมากพอที่จะสนับสนุนธุรกิจในละแวกบ้าน (Density) และที่สำคัญพื้นที่กิจกรรมนั้นควรมีเพียงพอและอยู่ในระดับที่จ่ายได้สำหรับทุกคน ดังนั้น ภายใต้แนวคิดนี้พื้นที่หนึ่งจึงควรมีความยืดหยุ่นในการใช้งานตามช่วงเวลาและสามารถรองรับกิจกรรมได้หลากหลายในพื้นที่เดียว ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของเมือง
หลายเมืองทั่วโลกได้นำแนวคิดเมือง 15 นาที ไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาแล้ว เช่น ลิสบอน พอร์ตแลนด์ และบาร์เซโลนา และล่าสุดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่นำเสนอแนวคิดเมือง 15 นาที ในเฉพาะเรื่องพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งเพื่อการพักผ่อนใกล้บ้าน โดยต้องการให้คนในกรุงเทพมหานครเข้าถึงสวนได้ใน 15 นาที เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเปิดโล่ง (outdoor public space) โดยการเพิ่มพื้นที่ใหม่ เช่น สถานที่ราชการ แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้างซึ่งติดขัดข้อกฎหมาย พื้นที่จุดบอดต่าง ๆ ของโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ เป็น pocket park ขนาดเล็ก หรือ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชนควบคู่กับการเพิ่มจำนวนสวน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เดิมโดยใช้ลานกีฬาอเนกประสงค์เป็นต้นแบบ
เมื่อนโยบายในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯให้เข้าถึงได้ใน 15 นาทีนั้น เอาเวลาเป็นตัวตั้งแล้ว คำถามสำคัญ เราอาจต้องเริ่มจากความเข้าใจก่อนว่า กรุงเทพมหานครของเราเป็น “เมืองกี่นาที?” Urban Ally โดยหน่วยวิจัย City Reinventing Laboratory และ Data Thinking Laboratory ชวนเรียนรู้ผ่านข้อมูลเมือง ด้วยซีรีส์เนื้อหา #HowManyMinutesCity และค้นพบ Urbanity Index ข้อมูลลักษณะความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่จะให้เราเข้าใจเมืองของเรามากยิ่งขึ้น ...อ่านต่อ