วิทยานิพนธ์ สถาปัตยกรรมไทย - ไทยอย่างไร

รองศาสตราจารย์ ดร. ต้นข้าว ปาณินท์

 

คำถามแรก ที่มักจะผุดขึ้นมาก็คือ ก่อนที่จะทำวิทยานิพนธ์ ในสาขาสถาปัตยกรรมไทยนั้น เราต้องตั้งคำถามกับคำจำกัดความของ สถาปัตยกรรมไทย หรือไม่ และคำจำกัดความนี้ ควรเป็นคำจำกัดความของเราเอง หรือเป็นความเข้าใจร่วมกันของทุกคน ทั้งผู้เรียนและผู้สอน

ความยากและความท้าทายของการคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์ สถาปัตยกรรมไทย จึงเริ่มที่คำจำกัดความนี้

 

94769700 3326590144018298 7057389844451819520 o

 

แน่นอนว่าหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมไทยนั้น มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ของการสืบสานศิลปวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรมของไทยที่มีรากดั้งเดิมอันมั่นคง และถูกถ่ายทอดผ่านกระบวนการพัฒนาทางความคิดและวิธีการ ตลอดจนรูปแบบทางสถาปัตยกรรมไทย แต่อีกส่วนหนึ่งของการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้นักศึกษา ได้ใช้ความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรม ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ภายใต้กรอบของสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเท่านั้น แต่ทำให้นักศึกษาสามารถพัฒนางานด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนเข้าใจว่า ความสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมที่ตนเองพยายามจะออกแบบนั้น มีความสัมพันธ์กับรากของวัฒนธรรมไทยอย่างไร ทำให้เนื้อหาในการเรียนการสอน ทั้งในด้านคุณค่าของขนบแบบแผนไทยประเพณี และคุณค่าของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเพื่อสืบสานความคิด นั้นจำเป็นต้องดำเนินควบคู่กัน

วิทยานิพนธ์ สถาปัตยกรรมไทย จึงเป็นงานที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้รูปแบบในทางใดทางหนึ่ง แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษา เลือก ตัดสินใจ วิเคราะห์ ความเข้าใจของตนเอง ที่มีต่อ สถาปัตยกรรมไทย และกลั่นกรองออกมาเป็นงานออกแบบ ที่อยู่ในบริบทอันละเอียดอ่อน ของความเป็นไทย

ซึ่ง ความเป็นไทย ในที่นี้ แน่นอนว่าไม่ได้มีคำจำกัดความเดียว แต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้ความหมายกับ “ความเป็นไทย” ในทิศทางต่างๆ ที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นไทยจากแบบแผนทางสถาปัตยกรรมประเพณีของไทย ที่เราคุ้นเคยกันดี หรือเป็นการประยุกต์รูปแบบ เพื่อตอบโจทย์การใช้สอยที่แตกต่างออกไป โดยยังมีระบบสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับความเป็นไทยในความทรงจำของเราทุกคน ไปจนถึง การตีความ ความเป็นไทย ที่เชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตและระบบสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง ที่อาจไม่ได้ถูกแสดงออกผ่านรูปแบบภายนอก แต่เป็นการตั้งคำถามถึง ที่มา และความเป็นไปได้ในการสร้างงานสถาปัตยกรรม เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในบริบทไทย

ดังนั้น ความเป็นไทย ในงานวิทยานิพนธ์ สาขาสถาปัตยกรรมไทย จึงเป็นการค้นหาความเป็นไปได้ ในการ “ออกแบบ” ภายใต้รากฐานของประวัติศาสตร์ ขนบ ประเพณี สังคมวัฒนธรรม ที่ล้วนผลักดัน ให้งานสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัย มีเนื้อหาและการแสดงออกที่ไม่เหมือนกัน

การแสดงออก หรือ อาจเรียกได้ว่า Representation นี้เอง จึงเป็นหัวใจสำคัญของทุกคำถาม ในวิทยาพนธ์ สถาปัตยกรรมไทย ที่อนุญาตให้ทุกงาน เลือกหนทางในการให้ความหมายและการแสดงออกแตกต่างกัน ตั้งแต่การแสดงออกในแบบ Figurative ที่เราสามารถอ่านรูปร่างรูปทรงสัดส่วนของงาน ว่ามีความเป็นไทยผูกโยงกับประวัติศาสตร์ชัดเจน ไปจนถึงการแสดงออกแบบ Symbolic ที่หน้าตา หรือภาพลักษณ์ภายนอกของงาน ถูกตีความและประยุกต์ เพื่อสื่อสารเพียงประเด็นสำคัญบางประเด็น หรือแม้แต่การแสดงออกแบบ Pragmatic ผ่านการวิเคราะห์การใช้สอยในชีวิตประจำวันแบบไทย ที่อาจไม่ได้ถูกสื่อสารผ่านรูปทรงหรือระบบสัญลักษณ์ที่อ่านได้ชัดเจน แต่ปรากฏออกมาในรูปของการจัดระบบที่ว่าง การสัญจร หรือระบบการก่อรูป ที่ตอบการใช้สอยในบริบทไทย

การแสดงออกในหลากรูปแบบนี้ มีความเป็นไปได้อย่างแท้จริง เมื่อนักศึกษา ได้ผ่านกระบวนการศึกษาพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมไทยและมีความเข้าใจถึงที่มาและความหมายของงานสถาปัตยกรรมในบริบทไทย และการเลือกแสดงออกนี้ ก็ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกระหว่างการ “อยู่ในกรอบ” หรือการ “ละทิ้ง” รากวัฒนธรรม แต่เป็นการกลั่นกรองและตั้งคำถามเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ และเปิดประตูอีกหลายๆ ไปสู่ทิศทางในการสร้างสรรค์ และสืบงานงานสถาปัตยกรรมไทย สำหรับอนาคตอย่างยั่งยืน

 

#archsu #silpakorn #สถาปัตย์ศิลปากร