What is a Thesis ?
รองศาสตราจารย์ ดร. ต้นข้าว ปาณินท์
การทำวิทยานิพนธ์คืออะไร ความหมายของมันอยู่ที่ไหน และมันสำคัญที่สุดสำหรับนักเรียนสถาปัตยกรรมจริงหรือ ?
ตัวอย่างวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาชั้นปีที่ห้า จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จำนวนหนึ่ง ที่เพิ่งจะส่งและตรวจงานกันไปไม่นาน แน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นตัวแทนของงานที่ดีที่สุดจากสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกงานเป็นตัวแทนของการพยายามดิ้นรนตอบคำถามดังกล่าว ของเด็กๆ ที่พยายามจะค้นหาสมดุลย์ระหว่างความจริงและจินตนาการ สมดุลย์ระหว่างประโยชน์ใช้สอยที่ควรจะเป็นและแนวความคิดที่พวกเค้ามี
เราทุกคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า สถาปัตยกรรมคือส่วนผสมของวิทยาศาสตร์และศิลปะ การออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์และความสามารถทางศิลปะ ในขณะที่คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะอธิบายธรรมชาติของสถาปัตยกรรมอย่างมีเหตุผล แต่ถ้าเราลองถามตัวเองอีกครั้ง เราอาจพบคำถามที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่าคำตอบ สถาปัตยกรรมเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร สถาปัตยกรรมนั้นเป็นศิลปะได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งสองสิ่งจำเป็นต้องรวมกันจริงหรือ แล้วจะรวมกันได้อย่างไร?
เด็กๆ ที่เข้ามาเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลายๆ คน อาจจะได้พยายามค้นหาคำตอบนี้มาตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาเรียน
สาเหตุหนึ่งอาจเป็นด้วยความเคยชินในการแบ่งแยกประเภทของงานสถาปัตยกรรมที่ค่อยๆ ฝังรากในระบบความคิดของเรา เมื่อพูดถึงงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา นอกจากเราจะแบ่งงานไปตามประเภทการใช้งานหรือ Building Type เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์สถาน ฯลฯ แล้ว ในบางครั้งเรายังแบ่งประเภทของงานไปตามกรอบ ทิศทางหรือแนวทางการสร้างงาน เช่นงานนี้เป็นงาน Function หรืองานที่เน้นประโยชน์ใช้สอย งานนั้นเป็นงาน Concept หรืองานที่เน้นแนวความคิด การพูดถึงงานสถาปัตยกรรมโดยแบ่งประเภทความคิดในรูปแบบนี้ แน่นอนว่าเป็นสิ่งสะดวกเข้าใจง่าย เห็นภาพชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็บิดเบือนธรรมชาติของงานสถาปัตยกรรม แยกความคิดออกเป็นสองส่วน ทำให้เราเข้าใจว่างานทั้งสองประเภทเป็นงานที่มีลักษณะขัดแย้งกัน ฉะนั้นในสายตาผู้รักเหตุผลของการใช้งาน งานคอนเซ็ปต์นั้นก็จะเป็นงานที่เข้าใจยาก เป็นเรื่องของนามธรรมคล้ายความคิดจากโลกอื่น เข้าถึงได้ลำบาก ในขณะที่ในสายตาของผู้รักจินตนาการและการค้นหาสิ่งแปลกใหม่ งานฟังก์ชันก็จะเป็นงานที่จืดชืด เต็มไปด้วยระบบกฎเกณฑ์ไร้ชีวิตชีวา ความคิดดังกล่าวทำให้ทั้งสองกลุ่มความคิดเกิดความเกรงกลัว ไม่ไว้ใจกัน อาจถึงขั้นรังเกียจ พยายามหลีกหนีซึ่งกันและกัน จึงยากที่จะเกิดผลงานสถาปัตยกรรมของนักศึกษา ที่มีความสมดุลย์ขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การแบ่งแยกการออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นงานฟังก์ชัน และงานคอนเซ็ปต์ จึงอาจจะไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของการสร้างสรรค์ทางสถาปัตกรรม การเรียนการสอนสถาปัตยกรรม แทนที่จะเริ่มต้นด้วยวิทยาศาสตร์ และศิลปะ ที่ดูจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทำให้เด็กๆ มองแทบไม่ออกว่าทั้งสองระบบความคิดนี้จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร สถานศึกษาต่างๆ ในประเทศไทยเอง เริ่มหันมามองงานสถาปัตยกรรมว่าเป็นแขนงวิทยาการที่มีพื้นฐานทางปรัชญาสัมพันธ์กับสาขามานุษย์วิทยา สังคมวิทยาและปรัชญา การเรียนสถาปัตยกรรม ก็จะเป็นการเริ่มต้นด้วยพื้นฐานวิชาทางมานุษย์วิทยาและปรัชญา เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่ามนุษย์คืออะไร สัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเองในระบบสังคมและสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆในโลกอย่างไร ทำไมมนุษย์จึงมีความต้องการในรูปแบบต่างๆ ทั้งในด้านการใช้สอยทางกายภาพตลอดจนความต้องการทางจินตภาพหรือความคิดเชิงสัญลักษณ์ และความต้องการเหล่านี้มีวิธีการตอบสนองได้อย่างไร หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นระบบการศึกษาที่เน้นการตั้งคำถามและความเข้าใจธรรมชาติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ เป็นการเรียนการสอนบนรากฐานของปัญหาหรือ Problem Based เพื่อให้รู้ว่าทำเพื่ออะไร มากกว่าการสอนเพื่อให้ทราบว่าทำอย่างไร การเป็นสถาปนิกจึงเริ่มต้นจากการคิดก่อนการทำเสมอ
วิทยานิพนธ์ นอกจากจะเป็นการออกแบบแล้ว หัวใจสำคัญของทุกงาน ก็คือการตั้งคำถามเหล่านี้ ว่าสำหรับเราแต่ละคน สถาปัตยกรรมที่ดีนั้นมีความหมายหรือคำจำกัดความอย่างไร
ทุกงาน จึงไม่ใช่ทั้งงานฟังก์ชั่น และไม่ใช่งานคอนเซ็ป แต่เป็นความพยายามของเด็กๆ ที่จะตอบคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เหตุผล ความหมาย การแสดงออก เทคโนโลยี และสุนทรียภาพ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งจุดมุ่งหมายของเด็กๆเหล่านี้ ก็คือการพยายามค้นหากระบวนการที่จะสร้างความเข้าใจว่า ทุกสิ่งที่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นในงานสถาปัตยกรรมนั้นจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันได้อย่างไร
แต่แน่นอนว่าความต้องการทางกายภาพไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นตัวขับเคลื่อนวิถีชีวิตมนุษย์และสังคม มนุษย์มีความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำ และจินตนาการ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจึงตอบสนองธรรมชาติเหล่านั้นในรูปของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และสุนทรียภาพที่หลอมเป็นหนึ่งเดียวกับความต้องการทางกายภาพและการใช้สอยอย่างไม่สามารถแยกจากกันได้ เมื่อเราสามารถเข้าใจเหตุผลของความต้องการด้านต่างๆ ของมนุษย์ สิ่งที่เราออกแบบเพื่อการอยู่ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่าอะไรก็จะอยู่ในกรอบของเครื่อข่ายความสัมพันธ์นั้นไปโดยปริยาย ไม่จำเป็นที่เราจะต้องแยกแยะว่าสิ่งที่เราออกแบบนั้นมีเหตุผลและมีความเป็นศิลปะมากน้อยเพียงใด
ถ้าวิทยานิพนธ์แต่ละชิ้น สามารถตอบคำถามของเราแต่ละคนได้ว่า ทำไมเราถึงอยากทำโครงการนี้ ทำไปแล้วเราได้เรียนรู้อะไร และมันส่งผลต่อความคิดและความเชื่อที่เรามีต่อสถาปัตยกรรมแค่ไหน ไม่ว่าวิทยานิพนธ์เหล่านี้ จะมีผลลัพธ์ทางรูปธรรมอย่างไร ได้คะแนนมากน้อยแค่ไหน นั่นก็น่าจะเป็นคำตอบที่น่าพอใจ และเป็นบทสรุปของการศึกษาสถาปัตยกรรมได้อย่างน่าพอใจแล้ว