รองศาสตราจารย์ ดร. รุจิโรจน์ อนามบุตร
การออกแบบสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงโลกและสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน หลักคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องประจำอยู่ในใจ
Landscape หรือภูมิสถาปัตยกรรมคืออะไร มีแค่ต้นไม้ อาคารเขียวหรือไม่ และการออกแบบจะนำไปสู่การแก้ปัญหาธรรมชาติ หรือกระทั่งช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ได้มั้ย
วันนี้มีโอกาสพาทุกคนมาพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร. รุจิโรจน์ อนามบุตร แห่งสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม กับเรื่องราวของงานภูมิสถาปัตยกรรม ที่มากกว่า ลึกกว่าสิ่งที่เคยเข้าใจ รวมถึงอะไรคือสิ่งสำคัญในการเรียนรู้และใช้ชีวิตในปัจจุบันนี้
อาจารย์ช่วยเล่าเรื่องตั้งแต่สมัยเรียน จนมาถึงเป็นอาจารย์ให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ
ผมเรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต และมาสอบได้รับทุนรัฐบาลเพื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรไปเรียนต่างประเทศในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อจะมาสอน Landscape นี้ เพราะวิชานี้จำเป็นต่อสถาปนิก ทุนการศึกษาให้ถึงปริญญาเอก ก็เรียนปริญาโทสองใบ Landscape Architecture ที่มหาวิทยาลัย Cornellและ Urban planning จากนั้นต่อปริญญาเอก การวางแผนสิ่งแวดล้อม Environmental planning ที่มหาวิทยาลัย Michigan แล้วกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ศิลปากรนี้เป็นยิ่งกว่าบ้านอีก เริ่มสอนตั้งแต่ประมาณปี 2530 จนปีนี้ 2563 ใช้เวลาสอนอยู่ที่นี่ 33 ปีแล้ว
Landscape สำคัญกับสถาปนิกขนาดไหนครับ
งานสถาปัตยกรรมที่ดี จะต้องตอบสนองกับสิ่งแวดล้อม ถึงขนาดที่บางครั้งเป็นงานที่เติบโตขึ้นมาจากสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การออกแบบสถาปัตยกรรมโดยไม่ดูสภาพแวดล้อม ก็ทำได้บ้างบางลักษณะโดยไม่คำนึงถึงอะไรเลย แต่ไม่น่าจะเป็นสถาปัตยกรรมที่ดีมาก ต้องออกแบบไปพร้อมกัน ทั้งข้างในและข้างนอก เพราะฉะนั้นถึงต้องให้สถาปนิกเรียนรู้ด้านภูมิสถาปัตยกรรมด้วย
นิยามของคำว่า Landscape หรือภูมิสถาปัตยกรรม คืออะไร
ภูมิสถาปัตยกรรมก็คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อมทั้งหมดนั่นแหละ ‘ภูมิ’ แปลว่า แผ่นดิน ซึ่งหมายความถึงสภาพแวดล้อมทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นวิชาภูมิสถาปัตยกรรมก็คือ การออกแบบสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงโลกและสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน หลักคือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องประจำอยู่ในใจ
ถ้าจะบอกว่างานนี้รับใช้มนุษย์รึป่าว?
ก็ตอบว่าใช่ แต่ไม่ได้รับใช้มนุษย์เป็นอันดับหนึ่งในทันทีเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมมันดีแล้ว มนุษย์จะได้รับอานิสงค์โดยทางตรงหรือทางอ้อม และในระยะยาวด้วย ไม่ใช่สร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้มนุษย์โดยตรง และเล็งเห็นผลเฉพาะระยะสั้น เพราะงั้นนี่คือหลักประจำใจของงานภูมิสถาปัตยกรรม
ถ้าพูดถึงความสำคัญหลัก วิชานี้เป็นอย่างนั้นมาแต่แรก ซึ่ง ณ ขณะนี้สภาพแวดล้อมมันแย่มาก จนกระทั่งมันกลายเป็นว่าทุกอย่างต้องหันกลับมาหาเรื่องสภาพแวดล้อม ถ้ามนุษย์จะดำรงอยู่ได้ต่อไป เราจะมุ่งออกแบบกายภาพของสภาพแวดล้อม โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่อไปอีกไม่ได้ คือไม่ใช่ปรับทุกอย่างให้เข้ากับมนุษย์ แต่ปรับทุกอย่างที่เราออกแบบให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมแทน ซึ่งมนุษย์จะได้รับอานิสงค์นั้นในระยะยาว
ภาพ : ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Landscape กับ Installation art คล้ายหรือต่างกันมั้ยครับ
หากมองว่าสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องของอาคาร แล้วเข้าใจไปว่าภูมิสถาปัตยกรรมคือเรื่องต้นไม้อย่างเดียว ก็จะเหมาเอาว่า ภูมิสถาปนิกออกแบบสวนหย่อมเป็นหลัก แท้จริงแล้วต้นไม้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของสิ่งแวดล้อมโดยรวม แต่เราไม่ได้ทำแค่ปลูกต้นไม้ เราดูทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของภูมิอากาศ เรื่องภูมิประเทศ กว้าง ๆ รวมไปถึงความงาม มนุษย์ และศิลปะ ทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว ถ้าเผื่อเราจะแยกเป็นองค์ประกอบ ก็พูดได้ว่าภูมิสถาปนิกสนใจเรื่องอะไรบ้าง แต่ถ้ามองในองค์รวม ก็จะไล่มาตั้งแต่โลกเรา จนถึงศิลปะ ทำอย่างไรมันถึงจะเข้ากับภูมิประเทศ เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ภูมิสถาปัตย์มันจึงเหมือนกับศิลปะบางแขนง และต่างจากศิลปะบางแขนง ศิลปะบางแขนงจัดแสดงใน studio ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุม แต่ของเราจัดแสดงในสภาพแวดล้อมที่เราจะต้องเอามาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดความเหมาะสมในทุกด้าน
ภาพ : ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ช่วยพูดถึงโปรเจคสนุก ๆ ให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ
สาขาวิชาเราทำงานกันเป็นทีมตลอด มีงานหลายโปรเจ็คท์และหลากขอบเขตมาก อย่างเช่น งานสวนพฤกษศาสตร์ชายเลนนานาชาติ ร.9 ที่จังหวัดจันทบุรี เป็นงานที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมอบหมาย รัฐบาลได้พื้นที่กลับมาจากการบุกล้ำป่าชายเลน ซึ่งในเมื่อป่าถูกทำลายไปแล้ว และปัจจุบันโลกถูกทำลายไปแยะ เป็นโอกาสที่เราจะได้ฟื้นฟูให้กลับมา ซึ่งก็จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น และไม่ใช่เพียงการเอาต้นไม้ไปปลูก แต่ควรจะต้องทำหน้าที่ในการศึกษาวิจัยและสร้างสำนึกให้คนไป ดูแล้วว่ามีความจำเป็นอะไรที่เราจะต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้อย่างเหมาะสมและสมควร โลกเราอยู่ในระยะนั้น สิ่งที่เสียหายไปแล้วจะเอาค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับมา ทีละเล็กละน้อย ก่อนจะดึงกลับมาไม่ได้แล้ว ณ ขณะนี้เราก็รู้ว่าเรามีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมมากขนาดไหน
ภาพ : ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
Landscape นอกจากออกแบบในด้านธรรมชาติแล้ว ด้านของมนุษย์มีบทบาทอย่างไรบ้างครับ
ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของธรรมชาติเพียงอย่างเดียว เรามีงานออกแบบและศึกษาวิจัยในด้านอื่น ๆ ด้วย อีกด้านคือมนุษย์และมรดกของเรา ที่เรียกว่าแหล่งศิลปกรรม มนุษย์ปัจจุบัน ไม่ได้ทำลายแต่ธรรมชาติ แต่ทำลายมรดกเก่าไปด้วย เพราะฉะนั้น เราก็ได้ทำงานให้กับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างแนวทางในการอนุรักษ์แหล่งศิลปกรรม ของโบราณที่มีคุณค่าทั้งหลาย วัดวาอาราม โบราณสถาน ถูกบุกรุกทำลายในนามของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำอย่างไรเราถึงจะไปควบคุม ยับยั้ง สร้างสำนึกให้ได้ว่าไม่ให้ทำสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป อย่างที่พูดว่าทุกสิ่งสัมพันธ์ถึงกันหมด ทั้งธรรมชาติ มนุษย์ เกี่ยวข้องกันทั้งหมด งานอื่น ๆ ก็เช่น การออกแบบสวนสาธารณะเพื่อนันทนาการ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติหน้าวัดโสธรวราราม ออกแบบต้องให้เกิดความสง่างามสมที่เป็นส่วนหนึ่งของวัดโสธรวรารามที่เป็นโบราณสถาน และก็ต้องรองรับการใช้งานความต้องการในการสร้างคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ รวมไปถึงการออกแบบชุมชนเมืองด้วย หรือแม้แต่การใช้ Landscape พัฒนาเมือง ซึ่งผมก็ศึกษาพัฒนาความเชี่ยวชาญในเรื่องของการวิเคราะห์คุณภาพทางสายตา (Visual Quality) อย่างสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นมา ทำให้เกิดความน่าเกลียดหรือความสวยงามกับสภาพแวดล้อมโดยรวม และได้ใช้ความรู้นั้นในการเป็นกรรมการชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อจะบอกว่าโครงการทั้งหลายที่ทำจะเกิดความเสียหายกับสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนทางด้านความสวยงามซึ่งต้องมีหลักในการพิจารณา ที่ต้องใช้หลักการที่อธิบายได้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ
ภาพ : ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เราทุกคนสามารถเริ่มช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้างครับ
ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญมาก และการให้คุณค่าสิ่งแวดล้อม ขอให้มองให้กว้าง อย่ามองที่ผลประโยชน์ระยะสั้นเพียงอย่างเดียว เพราะความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม อย่างเช่น หากมีคำถามว่าต้นไม้อะไรที่ช่วยลดปัญหามลภาวะฝุ่นละอองเราอาจจะพูดถึงชนิดต้นไม้ที่ควรปลูกในบ้าน หรือหากพูดถึงในกทม. หรือเมืองในปัจจุบัน ก็อาจจะเป็นต้นไม้ที่ปลูกริมถนนนี่แหละ เพราะถ้าเมื่อไรคนสามารถเดินริมถนนได้สบายไม่ร้อนมาก เผื่อมาใช้ระบบขนส่งสาธรณะอย่างรถไฟฟ้า ปัญหานี้ก็จะบรรเทาได้ นี่จึงหมายถึงการเปลี่ยนทัศนคติ มองว่าทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกัน เราไม่ได้แก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น อย่าไปมองที่ใบไม้ใบหนึ่ง แต่ให้มองว่าธรรมชาติที่จะช่วยให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นได้ ผู้ออกแบบควรทดลองอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น
ภาพ : ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
หากสนใจจะเรียนต่อหรือศึกษาต่อทางด้าน Landscape ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ
ที่พูดมานี่สำคัญมากเลย คำแรกคือคำว่า ‘สนใจ’ ส่วนการเตรียมตัวเนี่ย ไม่ต้องไปถึงกับเตรียมตัวเพื่อที่จะรู้จักต้นไม้ให้เยอะที่สุด เรามาหาความรู้ภายหลังได้ เอาแค่ว่ามีความสนใจ ในเรื่องของสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม แค่นี้ก็มาเรียนได้แล้ว ในการเตรียมตัวคือมองสภาพแวดล้อม มององค์รวม เรื่องของความสัมพันธ์ในทุก ๆ อย่าง ถ้าเราดูเรื่องของสภาพแวดล้อม หลักสำคัญคือ ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ไม่มีอะไรตัดขาดจากกันเลยอย่างไม่น่าเชื่อ แค่เปิดใจให้กว้าง รับรู้เรื่องราวทั่ว ๆ ไปที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรขึ้นมา ก็พูดได้ว่าสัมพันธ์กันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นให้เตรียมตัวเตรียมใจให้มีความสนใจเรื่องของสภาพแวดล้อมโดยรวม และเรารับคนที่มีพื้นฐานทางการออกแบบ เอาความสามารถ เอาทักษะมา แต่ที่ยังขาดอยู่คือมุมมอง ทัศนคติ และการให้คุณค่า นี่คือที่เราจะเสริมให้คือ เรื่องเหล่านี้ และวิธีคิดจากอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อที่จะเอาสิ่งที่เรามีความสามารถอยู่แล้ว คือการออกแบบทางกายภาพ มาแก้ปัญหาและออกแบบร่วมกับสภาพแวดล้อมอย่างไรให้เกิดความสร้างสรรค์ที่เป็นพิเศษ ซึ่งโลกนี้กำลังต้องการ
ภาพ : ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อุปกรณ์ที่ต้องมีติดตัวสำหรับอาจารย์ คืออะไรครับ
สำหรับผมไม่มีอุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ นอกจากทัศนคติ และโทรศัพท์มือถืออีกสักเครื่องก็ได้ แต่ให้รู้ว่า คำถามบางอย่างที่จะต้องรู้เปิดหาเอาจากโทรศัพท์ หาเอาได้ในทันที แต่ทัศนคติมันหาไม่ได้ เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง การมองเห็นความสัมพันธ์ในสิ่งแวดล้อมนั้นถ้าเรายิ่งมองกว้างเท่าไร เราเห็นปรากฏการณ์ใดเกิดขึ้น เราจะพยายามเข้าใจว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไร และมันจะนำไปใช้ในการออกแบบให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นได้อย่างไร เข้าใจตั้งแต่กระบวนการในธรรมชาติ ไล่กลับไปจนถึงประวัติศาสตร์ จากมนุษย์ ไปถึงโลก แล้วเราจะรู้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้น เป็นไป และสัมพันธ์ที่กันได้อย่างไร และปัญหาที่เกิดขึ้น น่าจะมีแนวทางในการแก้หรือปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้อย่างไร
อาจารย์อยากฝากอะไรกับทุกคนบ้างครับ
ที่จะฝากเอาไว้ จะต้องรู้ว่าเวลาหมดแล้ว ผมผ่านระยะเวลาในโลกนี้มาก็หลายปีไม่เคยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขนาดนี้มาก่อนเลย ถ้าไม่แก้ตอนนี้ ผมไม่ได้พูดเป็นเล่น ๆ แต่เราตายแน่ คือไม่รอดแน่ ๆ ทุกอย่างที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นภูมิอากาศ หรือโลกร้อน คือพูดไปแล้วบอกว่าโบราณ มันไม่โบราณหรอก ทุกวันนี้ที่เราหายใจกันไม่ออกเพราะฝุ่น เพราะอากาศมันแปรปรวนด้วย ลมเย็นจากจีนยังไม่หมดเลย ช่วงนี้แล้วยังมีอีก เมื่อก่อนนี้จะน้อยลงมาก แต่เพราะอากาศแปรปรวน พอหนาวก็หนาวจัด ฝุ่นถึงได้ค้างอยู่อย่างนี้เป็นต้น ทำให้เกิดมลภาวะ และเราทำไมถึงมีฝุ่น เพราะเราเผาผลาญพลังงานเพื่อความสะดวกของตนเอง จนกระทั่งเราหายใจไม่ออกแล้ว ถึงเวลาแล้วจริง ๆ ขอให้ทุกคนเข้าใจไว้
เพราะฉะนั้นทุกคน ทุกสาขาวิชาความรู้ทั้งหลายต้องระดมกันมาเพื่อช่วยกันแก้ปัญหานี้ให้เราอยู่ต่อไปได้
#archsu #landscape #mlasu #silpakorn #ภูมิสถาปัตยกรรม #ภูมิสถาปัตย์ศิลปากร #สถาปัตย์ศิลปากร