รองศาสตราจารย์ ดร. ต้นข้าว ปาณินท์

 

ให้ลองเริ่มทำงานจากการใช้มือก่อนใช้เทคโนโลยี เพราะมือจะทำงานกับสมองและหัวใจ

 

สถาปัตยกรรม การออกแบบ คอนเสปต์ ระบบความคิด คงเป็นคำที่หลาย ๆ คนฟังแล้วคุ้นหูมาก อีกทั้งคำถามที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน ได้ฟัง ได้ทำความเข้าใจ ว่านอกจากการออกแบบสถาปัตยกรรม โรงเรียนสถาปัตย์สอนอะไรเรา ทั้งการค้นหาตัวเองให้เจอ การได้เจอภาษา การได้เจอระบบความคิดของตัวเราเอง

วันนี้จะพาทุกคนมาพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์ ดร. ต้นข้าว ปาณินท์ อาจารย์สุดคูลแห่งภาควิชาสถาปัตยกรรม เรามักจะได้พูดคุย หรือปรึกษาอาจารย์ในเรื่องของบทเรียนและการออกแบบ แต่ในบทความนี้คือ เรื่องราวที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจผ่านเลนส์และประตูที่เปิดกว้างของสถาปัตยกรรม

 

รบกวนอาจารย์ช่วยเล่าถึงสมัยเรียนจนมาถึงปัจจุบันให้ฟังหน่อยครับ

ครูก็จบปริญญาตรีที่นี่ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เสร็จแล้วในช่วงที่ครูจบนั้น เป็นช่วงที่งานก่อสร้างบูมมากมากเลย เพื่อน ๆ แทบทุกคนก็เป็นสถาปนิกกันหมดเลย ทำงานออฟฟิศกัน ครูก็ลองไปสมัครดูบ้าง พอไปทำได้แป๊บเดียว เรารู้สึกว่าเรายังรู้ไม่พอ ยังอยากรู้อะไรมากกว่านั้น เลยคิดว่าสมัครเรียนต่อดีกว่า ก็ลองสมัครไปหลายที่เลย ทีนี้คำถามแรกเลยว่าเราจะเรียนสถาปัตย์ต่อ หรือจะเรียนอย่างอื่น เช่น จะเรียนอินทีเรีย เรียนโปรดักส์ดีไซน์ มีอะไรให้เลือกมากมาย แต่คิดไปคิดมาแล้ว การที่เรายังรู้ไม่พอ แทนที่ครูจะเปลี่ยนสาขาไป ครูก็เรียนสถาปัตย์ดีกว่า ก็ได้ที่ University of Houston ครูก็ไปเรียน สนุกมาก ได้รู้อะไรใหม่ ๆ ได้หัดอ่านหนังสือที่เราไม่เคยอ่านมาก่อน พอเรียนจบก็เอ้ะ ยังสนุกอยู่ ทีนี้เริ่มอยากเปลี่ยนสาขา เลยไปเรียน Fine art เรียนภาพพิมพ์อยู่พักนึง แล้วรู้สึกว่าเราสามารถนำมา incorporate ไปกับสิ่งที่เราทำ ช่วงนั้นมีโปรเจคท์ประกวดแบบ ครูก็ใช้ภาพพิมพ์เนี่ยแหละทำแบบแล้วส่งประกวดระหว่างรอเรียนต่อ

ตั้งแต่เด็ก ๆ ถ้ามีเวลาว่างครูชอบอ่านหนังสือ ระหว่างที่เรียนปริญญาโท ครูก็อ่านหนังสือเยอะมาก เผอิญไปอ่านหนังสือ Theory ของ Professor สองท่าน คือ Joseph Rykwert และ David Letherbarrow ครูก็สืบไปว่าเค้าสอนที่ไหน ครูอยากเรียนกับเค้า ก็ค้นพบว่าเค้าสอนที่ University of Pennsylvania สอนโปรแกรม History theory ซึ่งมันเป็นอะไรที่ใหม่มาก เป็นอะไรที่ต้องอ่านหนังสือเยอะมาก แต่ครูก็คิดว่าอยากเรียนมาก เลยสมัครไปเรียนปริญญาโทอีกตัวนึง คือ Master of Science พอไปเรียนจริง ๆ คือเหนื่อยมากเพราะต้องอ่านหนังสือเยอะมากและต้องเขียนเปเปอร์มากมาย ซึ่งเราก็เขียนไม่เก่ง แต่ด้วยความเหนื่อย ก็อยากทำให้ได้ รู้สึกว่ามันก็สนุกดีนะ แล้วก็ได้เรียนอะไรที่เราไม่เคยเรียน ทั้ง ๆ ที่มันเป็นอะไรในสาขาสถาปัตยกรรมเหมือนกัน แต่ว่าสมัยเรียนเราไม่เคยได้อ่านหนังสืออะไรแบบนี้เลย แล้วพอเราเริ่มทำได้ เริ่มเข้าใจสิ่งที่เราเรียน ก็รู้สึกว่าอยากเรียนต่อปริญญาเอก เพราะถ้าเราเรียนต่อปริญญาเอกแล้วไปเป็นอาจารย์ มันน่าจะเหมาะกับเรา เหมือนได้ force ให้เราต้องศึกษาต้องอ่านหนังสือ พอจบปริญญาโทครูก็เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอกที่เดิม ในสาขา History Theory เหมือนเดิม แล้วก็เรียนไปทำงานไปด้วย ช่วงสี่ปีหลังที่เรียน ครูก็สอนหนังสือที่ Penn เพราะเป็น requirement ที่นักเรียนปริญญาเอกทุกคนต้องสอน ครูก็ได้สอนคลาส Theory คลาส Seminar และสอน Studio ด้วย ซึ่งครูรู้สึกว่าสนุกมาก แล้วระหว่างช่วงที่เริ่มเรียน พอดีรัฐบาลไทยมีทุน เรียกว่าทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน ครูก็สมัครแล้วได้ทุน ก็เลยเรียนต่อปริญญาเอกด้วยทุนรัฐบาล ซึ่งจะมีข้อผูกมัดว่าจบแล้วต้องมาทำงานเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะถ้าไม่มีข้อผูกมัดอันนี้ ครูอาจจะไม่ได้กลับมาแล้ว กลับมาก็มาสอนที่คณะ สอนปีสี่มาตลอด จนผ่านไป 15 ปีก็ยังคงสอนปีสี่อยู่

 

t2

 

ถ้าพูดถึงคำว่า Concept เด็ก ๆ ในคณะจะนึกถึงอาจารย์ต้นข้าว สำหรับอาจารย์ Concept คืออะไรครับ

จริง ๆ ครูไม่ค่อยอยากพูดคำว่าคอนเสปต์ เพราะมันมักจะทำให้เข้าใจผิด เพราะคอนเสปต์มันเป็นอะไรก็ได้ที่เราคิด เป็นระบบวิธีการคิดของเรา แล้วเรารู้ตัวว่าเรากำลังคิดอะไร ทำอะไร และต้องการอะไร มันคือวิธีการคิดที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแรงบันดาลใจ หรือที่มาเชิงนามธรรมอะไรเลย เพราะอย่างที่บอกว่า จริง ๆ แล้วครูไม่ชอบใช้คำว่าคอนเสปต์ด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้เข้าใจผิด บางทีทำให้ไปนึกถึงอะไรที่อลังการ ยิ่งใหญ่ ซึ่งห่างไกลจากคำว่า Architecture พอพูดถึง concept จะรู้สึกว่าต้องไปหาอะไรอีกอย่างหนึ่งมาชนกับ Architecture ที่มันเป็นแนวความคิดเชิงนามธรรม ซึ่งมันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น เราสามารถจะมีคอนเสปต์ได้ด้วยการที่เรามีสิ่งที่เรียกว่า Direction ในการคิด ดังนั้นมันคือการตระหนักรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และเราอยากทำให้มันเป็นอย่างไร

 

t3

 

คอนเสปต์หรือภาษาที่อาจารย์ใช้ในการออกแบบ คืออะไรครับ

จริง ๆ แล้วเนี่ยงานทุกงานของครูจะมีลักษณะร่วมกันบางอย่าง คืองานทุกงานครูจะไม่อยากให้มีภาษาเฉพาะตัวของครู แต่อยากให้งานมีภาษาซึ่งมาจากการใช้สอยเฉพาะตัวของเจ้าของบ้าน หรือลักษณะเฉพาะของไซต์ หรือความต้องการเฉพาะตัวของแต่ละโปรเจคท์ อยากให้ภาษาถูก generate ออกมาตามสิ่งนั้น ดังนั้น ครูจึงพยายามไม่มีรูปแบบหรือภาษาที่มาจากตัวครูเอง แต่มันก็หลีกเลี่ยงยาก เพราะสถาปนิกทุกคนมีวิธีการทำงานหรือมีวิธีการมอง วิธีการหยิบจับอะไรมาไม่เหมือนกัน เราก็จะทำงานกับภาษาที่เราคุ้นเคยและออกมาเป็นภาพของเราเอง

 

t4

 

ยกตัวอย่างบ้านริมคลอง อาจารย์ช่วยพูดถึงโปรเจคท์นี้ให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ

จริง ๆ ไม่ได้มีคอนเสปต์อะไรที่พิเศษ แต่ว่ามีทิศทางในการทำงาน คือ อย่างแรกคือต้องตอบโจทย์การ Flow ของการใช้งานของเจ้าของบ้าน ซึ่งไม่มีการกั้นแบ่งเป็นห้อง ๆ พื้นที่ต้องเชื่อมถึงกัน จะเรียกว่า Concept ก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคือครูเชื่อว่าการที่เราจะอยู่ในเขต Tropical หรือเขตเมืองร้อนได้เนี่ย อาคารของเราไม่ควรจะปะทะกับอากาศข้างนอกโดยตรง ดังนั้นครูจะมีอีก Layer นึงซึ่งบางคนจะเรียกว่า Circulation บางคนเรียกว่าชาน ซึ่งสำหรับครูขยายส่วนนี้ ให้ใหญ่ขึ้นเป็นพิเศษ เพราะครูเชื่อว่า พื้นที่เอนกประสงค์นี้จะช่วยตอบโจทย์การใช้สอยแบบไทย ๆ คือบางทีเราไม่ได้ทำอะไรให้ห้องเฉพาะตัว คนไทยบางทีไม่ได้กินข้าวในห้องกินข้าว เราไม่ได้มี Dining room เราทำอะไรไปทุก ๆ ที่ เหมือนกับบ้านไทยโบราณที่เราก็ทำทุกสิ่งทุกอย่าง บ้านหลาย ๆ หลังครูก็ใช้ Idea นี้ เราจะใช้พื้นที่นั้นทำอะไรได้ในหลาย ๆ อย่าง และตัว Facade นี้ช่วย Protect บ้านจาก Element ทั้งหลาย ไม่ว่าจะแดดลมฝน มันก็เลยจะทำให้บ้านมันดูโบราณ บ้านดูไทย ทั้ง ๆ ที่ครูไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นมันไทย แต่พอเราพยายามจะตอบโจทย์ดินฟ้าอากาศ มันก็ไทยไปเอง เพราะคนสมัยก่อนเค้าเข้าใจ ว่าเราจะอยู่ยังไงกับสภาพอากาศแบบนี้ ดังนั้นพื้นที่แบบนี้เลยเกิดขึ้นมา คอนเสปต์ครูจึงคืออะไรง่าย ๆ อย่างวิถีชีวิตของเจ้าของบ้าน การใช้งาน การตอบโจทย์สภาพอากาศ ซึ่งมันคือโจทย์เดียวกัน แต่บ้านหลาย ๆ หลังก็พยายามจะหาวิธีตอบโจทย์ที่ไม่เหมือนกัน

 

t5

 

ถ้าอย่างนั้นแล้วสถาปัตยกรรมแบบโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่รักษาชีวิตคน อาจารย์มีไอเดียออกแบบอย่างไรครับ

ตอนที่ได้โจทย์โรงพยาบาลมา ปกติแล้วภาพของการเป็นโรงพยาบาลมันมีความตายตัวอยู่ระดับนึง ซึ่งเจ้าของโรงพยาบาลนี้ก็คือเจ้าของบ้านริมน้ำ เค้ามีมุมมองที่ดี อยากจะสร้างโรงพยาบาลซึ่งได้มาตรฐานทุกอย่างแต่ทำยังไงให้ค่าก่อสร้างมันน้อยที่สุดที่จะส่งผลให้ไปช่วยลดค่าใช้จ่ายทำให้ไม่ต้องเก็บเงินคนที่เข้ามารักษาแพง ซึ่งมันท้าทายมากแต่ยังอยากให้โรงพยาบาลนี้สวยดูแล้วทันสมัย แต่ในขณะเดียวกันไม่ให้รู้สึกว่ามันแปลกแยกจากบริบทจนไม่กล้าใช้ ครูก็เลือกใช้ element อะไรที่มันบ้าน ๆ อย่างบล็อคช่องลม นำมาจัดรูปแบบให้ทันสมัย

อีกโจทย์นึงก็คือ อยากให้คนเข้ามาโรงพยาบาลแล้วรู้สึก Relax ไม่รู้สึกกลัว อยากให้โรงพยาบาลเป็นเหมือนบ้าน ลดความรู้สึกน่ากลัว ซึ่งเจ้าของเค้าก็สนุกไปกับเรา เค้าก็ไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณมาตั้งแล้วรู้สึกบรรยากาศมันเปลี่ยนไป ผลสุดท้ายเมื่อสร้างเสร็จแล้วมัน economical มากทั้งในแง่การใช้สอยและภาพลักษณ์

 

t6

 

นอกจากเป็นอาจารย์ เป็นสถาปนิกแล้ว มีงานอดิเรกอะไรบ้างครับ

การอ่านหนังสือถือเป็นงานอดิเรกมั้ย เพราะว่าบางทีครูก็อ่านเพื่อมาใช้ทำงาน ใช้สอนหนังสือ แต่สำหรับครู ครูไม่แบ่งแยกว่าช่วงไหนทำงานอดิเรก เพราะจริง ๆ แล้วชีวิตครูทำงาน 7 วัน ยกเว้นเวลานอน จะบอกว่าทำงานตลอดเวลามั้ย ก็ใช่ แต่จริง ๆ มันเป็นงานอื่น อย่างแปลหนังสือ อ่านหนังสือเพื่อเอามาใช้ มันวนลูปไปแบบนี้ บางทีมีฟังเพลง เล่นเปียโน ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องจัดสรรเวลาวันนึงเพื่อไปพัก ไปทำงานอดิเรก มันเลยนั่งทำงานไปสักพัก นีกอะไรออกก็ไปเตรียมเลคเชอร์ พักนึงก็มาอ่านหนังสือต่อ มันก็เหมือนกับว่า เราไม่ได้แบ่งช่วงเวลาเป็นช่วง ๆ งานอดิเรกกับงานจริงเลยไปด้วยกัน ครูไม่รู้ว่าคำจำกัดความของคำว่างานอดิเรกคืออะไร อย่างการมาทำงานสอนหนังสือมันก็มีบางช่วงบางวันที่ทำแล้วสดชื่นเหมือนงานอดิเรกนั่นแหละ

อย่างการสอนหนังสือเนี่ยเราเจอเด็กแต่ละชั้นปีก็ต่างกัน คนละรุ่นก็ต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกัน มันก็สนุกเหมือนงานออกแบบนั่นแหละ

 

t7

 

อุปกรณ์ที่ต้องมีติดตัวสำหรับอาจารย์คืออะไรครับ

อุปกรณ์ที่ต้องมีติดตัวคือดินสอ แต่ต้องเป็นดินสอหัวใหญ่แบบนี้เท่านั้น ครูจะไม่ใช้ดินสอหัวเล็ก ดินสอนี้แม่ครูให้มาแล้วครูพกติดตัว ชอบมาก ครูชอบใช้แรงในการเขียน การที่เราได้ใช้แรงกดลงไป เหมือนเราได้ถ่ายทอด เป็นการสื่อสารระหว่างหัวเราและมือเรา และครูชอบดินสอเพราะทับไปทับมาได้ มันมีน้ำหนัก ดินสอไส้เดียวกันจะเขียนเบาก็ได้เขียนหนักก็ได้ และถ้ามีดินสอก็ต้องมียางลบ เนี่ยแหละอุปกรณ์ติดตัวที่จำเป็นมาก

 

มันมีผลต่อความคิดมั้ยครับ

มีผล เวลาตรวจงานก็ต้องใช้ดินสอเนี่ยแหละ จริง ๆ ครูเป็นคนชอบเขียนอะไรไปด้วยเวลาคุยกับเด็ก สมมติอย่างเด็กมาคุยทีสิส คุยกัน ครูก็จะเขียนไปด้วย เพราะมันเหมือนกับสมองเราทำงาน มือเราก็ทำงานไปด้วย ปากกาก็มีใช้นะแต่จะใช้เวลาเซ็นเอกสาร เหมือนกับบุคลิกเราเปลี่ยนไปทันทีเมื่อเราหยิบดินสอปากกาที่ต่างกันนำมาใช้

 

ผมจำได้สมัยเรียนกับอาจารย์ อาจารย์เคยพูดว่า ‘ให้ลองเริ่มทำงานจากการใช้มือก่อนใช้เทคโนโลยี เพราะมือจะทำงานกับสมองและหัวใจ’

ก็ไม่ใช่ว่าครูไม่อยากให้ใช้คอมพิวเตอร์นะ ครูเองก็ใช้ แต่ครูรู้สึกว่าครั้งแรกที่เราพยายามจะดึงทุกสิ่งทุกอย่างจากหัวเราเนี่ย คอมพิวเตอร์มันตอบโจทย์เราไม่ได้ อย่างเขียนหนังสือเนี่ย ครูก็จะร่างด้วยดินสอก่อน หนังสือทุกเล่มครูเขียนด้วยดินสอ มันสื่อสารดี

ถ้าถามว่าใช้คอมพิวเตอร์ผิดมั้ย ไม่ผิดนะ แต่เราต้องเก่งพอที่จะใช้มัน บางคนคิดว่ามันเหมือนกัน แต่ความคิดเราเปลี่ยน นักออกแบบคนเดียวกัน เริ่มออกแบบในคอมพิวเตอร์ก่อน กับเขียนด้วยมือก่อน เราเป็นคนละคนกันเลยทันที ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากเป็นคนไหนล่ะ

 

t8

 

สุดท้ายแล้วอยากฝากอะไรกับนักศึกษา หรือสถาปนิกมั้ยครับ

ครูอยากจะบอกว่าเรียนจบสถาปัตย์ไปไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิกก็ได้ สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการมาเรียนสถาปัตย์ มันคือการเปิดประตูให้เราไปทำอะไรก็ได้ ซึ่งมันมีประตูเยอะมาก มันช่วยให้เรามองโลกผ่านเลนส์ที่คม ครูมั่นใจว่าโรงเรียนสถาปัตยกรรมทำคือ การสอนให้มองอะไรอย่างแจ่มชัดด้วยมุมมองหลากหลาย และมี process ที่คม จริง ๆ คือ อยากฝากเอาไว้ว่าอย่าปิดประตูตัวเอง ถ้าเราไม่ชอบ ไม่อยากเป็นสถาปนิก เราก็ต้องหาให้เจอว่าเราอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร อยากทำอะไรแล้วแฮปปี้ ไม่ใช่ว่าไม่อยากเป็นแล้วก็เลยทิ้งเละเทะไปเลย เพราะสถาปัตยกรรมสอนเราเยอะกว่าการออกแบบอาคาร มันสอนให้เรามองโลก และสอนให้เราเข้าใจคน ซึ่งไม่ว่าเราจะไปทำอะไร เราก็ต้อง sensitive กับคนทั้งนั้น ทุกสิ่งที่อย่างที่เราทำก็ตอบโจทย์ความต้องการของคนทั้งนั้น

 

#archsu #silpakorn #สถ #สถาปัตย์ศิลปากร #สถาปัตย์หลัก #ออกแบบสถาปัตยกรรม