ศาสตราจารย์ สมคิด จิระทัศนกุล

 

ทุกคำอธิบายเต็มไปด้วยความหมายที่ซับซ้อนมาก ทุกนัยล้วนน่าค้นหา รากทางวัฒนธรรมไทยมีความลุ่มลึกขนาดนี้เลยรึ ?

หลายคนคงเคยได้ยินทั้งคำว่า อาจารย์ หรือคำว่าครู ในวันนี้อยากพาทุกคนมาพบกับครูของครู สถาปนิกงานสถาปัตยกรรมไทยชั้นครู ซึ่งคำว่าครูในที่นี้ ตัวผมเองสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของครูท่านนี้จริง ๆ

ศาสตราจารย์ สมคิด จิระทัศนกุล

ถ้าพูดถึงงานสถาปัตยกรรมไทย ทุกคนคงคุ้นเคยว่าคือ บ้าน วัด วัง แต่เบื้องหลังสิ่งก่อสร้างที่ทรงคุณค่าดังกล่าว วันนี้อยากพาทุกคนมาพูดคุยบรรยากาศสบาย ๆ กับครูผู้สอนสิ่งเหล่านี้กันครับ

 

 

รบกวนครูเล่าเรื่องสมัยก่อนให้ฟังได้มั้ยครับ


ครูเข้ามาเรียนที่นี่ตอนปี พ.ศ. 2520 จบปี 2525 ตอนนั้นยังเป็นหลักสูตรสถาปัตยกรรมแบบสากลซึ่งเป็นสาขาเดียวของคณะ ยังไม่มีสาขาสถาปัตยกรรมไทย พอเรียบจบแล้วก็ไปทำงานออกแบบที่ office ของอาจารย์สมมา เวสารัชชานนท์ ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนคณะนี้ ตอนนั้นกำลังออกแบบศูนย์การค้าใหญ่แถวมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้ช่วยทำประมาณ 6 เดือน

พอดี พล.ร.ต.สมภพ ภิรมย์ ประธานจัดทำหนังสือ “พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม” ของราชบัณฑิตยสถาน กำลังอยากได้คนที่พอรู้เรื่องศิลปกรรมไทยมาช่วย อ.เสนอ นิลเดชเลยแนะนำให้ครูไปสมัคร ซึ่งประสบการณ์สำคัญที่ครูได้จากที่นี่ก็คือการเขียนหนังสือ

แต่ส่วนที่ขาดหายไป คือการออกแบบงานสถาปัตยกรรม เพราะใจจริงแล้วครูอยากทำงานที่กรมศิลปากร แต่ไม่มีอัตรารับ เลยทนรออยู่ที่ราชบัณฑิตยสถานนี้ถึง 6 ปีเต็ม ก่อนคิดเปลี่ยนอาชีพใหม่ และด้วยความที่ชอบศิลปะไทย ชอบดูโบราณสถาน จึงคิดว่าน่าจะไปอยู่ที่ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) เผื่อมีโอกาสได้ไปเที่ยวดูงานต่างประเทศด้วย ก็ลองไปสมัครแต่ไม่มีอัตราว่างเหมือนกัน

อาจารย์เสนอ ท่านเลยแนะนำให้ไปสมัครกับบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ซึ่งมีลูกศิษย์ทำอยู่ แต่ก็ถูกปฏิเสธอีก เลยลองเปลี่ยนไปหาทางเป็นอาจารย์ที่ต่าง ๆ แทน สมัครถึง 3 แห่งก็ไม่มีที่ไหนรับ ตอนนั้นท้อใจมาก แต่ปรากฏว่าอยู่ ๆ ที่คณะเกิดมีอัตราว่างขึ้นมา 1 ตำแหน่ง อ.เสนอ ท่านรีบให้คนมาตามไปสมัคร ซึ่งช่วงเวลานั้นสถาปนิกส่วนใหญ่ไม่นิยมทำราชการกัน เลยมีครูสมัครแค่คนเดียว ผลคือตอนแรกก็ยังไม่ได้อีกเพราะมีเรื่องติดขัดสารพัดปัญหา ทำเอาหมดกำลังใจไปเลย จนเลิกคิดจะย้ายไปไหนแล้ว

สุดท้ายเหมือนชะตาถูกกำหนดให้ต้องมาอยู่ที่ศิลปากรนี่ เพราะทั้ง อาจารย์เสนอ นิลเดช และ อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ได้ช่วยกันแก้ไขสารพัดอุปสรรคจนลุล่วงไป ก็เลยมีโอกาสเข้ามาสอนที่คณะสถาปัตย์ฯ แห่งนี้ในสังกัดภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม โดยรับมอบหมายให้ช่วยสอนวิชาออกแบบสถาปัตยกรรมไทยและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยร่วมกับ อาจารย์เสนอ และ อาจารย์วนิดา นี่แหละ

 

sk2

 

ครูเริ่มชอบหรือศึกษางานทางด้านสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่เมื่อไรครับ


จำได้ว่าตั้งแต่ปีหนึ่งเลย ตอนเข้าเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป “ศิลปะวิจักษ์” กับ อาจารย์ มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ท่านเอาสไลด์เกี่ยวกับศิลปะของอินเดีย ลังกา เขมร ชวา และไทย มาฉายให้ดู ความที่เป็นเด็กบ้านนอกเข้ากรุง ตอนนั้นดูแล้วตื่นเต้นมาก เพราะมันเป็นอะไรที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นความงดงามที่แปลกตาแบบนี้มาก่อน กับอีกส่วนหนึ่งครูว่าน่าจะมีผลจากบริบทภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยศิลปากรเอง ที่มีมนต์พิเศษไม่เหมือนใคร ตรงที่เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนานภายใต้บรรยากาศแวดล้อมด้วยศิลปกรรมขั้นสูง ซึ่งก่อนหน้านั้นตอนที่ครูมาติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายที่ว่านี้อย่างจับใจ จนตั้งเป้าตอนนั้นเลยว่าจะเลือกเข้าสถาปัตย์ของที่นี่ที่เดียว

ยิ่งพอมาขึ้นปี 2 เจอบรมครูอย่างอาจารย์เสนอ ที่มีความรู้ลึกซึ้งทางประวัติศาสตร์และศิลปกรรมไทยแทบทุกแขนง อาจารย์สอนเก่งมาก เวลาสอนจะสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจไปหมด วาดรูปก็เก่ง สเก๊ตซ์เร็วแล้วก็แม่นยำ อย่าง โบสถ์-ปรางค์-เจดีย์แต่ละสมัยงี้ เขียนปั๊บเข้าใจชัดเจนเลย

ยิ่งทีเด็ดตอนเขียนกระดานดำ คือ ใช้ทั้งสองมือพร้อมกัน มือซ้ายวาดรูป มือขวาเขียนคำอธิบาย เห็นแล้วทึ่งมาก เลยทำให้ครูประทับใจและเทใจที่อยากเรียนสถาปัตย์ไทยตั้งแต่นั้นมา

ที่สำคัญคือในใจลึก ๆ นึกอยากเก่งแบบอาจารย์บ้าง

 

sk3

 

พอเริ่มสนใจทางด้านสถาปัตยกรรมไทยแล้วครูศึกษาเพิ่มเติมอย่างไรครับ


พอว่าง ๆ ไม่มีอะไรทำ ครูก็มามักไปหา อาจารย์เสนอ อาจารย์วนิดา ถามโน่นถามนี่เรื่อยเปื่อย ยิ่งถามก็ยิ่งรู้ ยิ่งรู้ก็ยิ่งอยากรู้มากขึ้นอีก อาจารย์ก็อธิบายให้ฟัง ค้นรูป หรือ slide ให้ดู บางครั้งเอาหนังสือให้อ่านเพิ่ม

อย่างอาจารย์เสนอ เนี่ยที่จริงท่านจบโบราณคดีมา ตอนนั้นยังแข็งแรง ชอบไปดูและสะสมของเก่า ครูเลยขอตามไปด้วย อาจารย์บอกว่าดีแล้วจะได้เห็นตัวชิ้นงานจริง ๆ เวลาไปครูต้องทำหน้าที่ถือกระเป๋าและหิ้วของให้ ตอนนั้นไปทั้งที่ริเวอร์ซิตี้และร้านของเก่าดัง ๆ ทำให้ได้สัมผัสกับศิลปกรรมไทยเกือบทุกด้าน ได้เห็นทั้งงานประณีตศิลป์ จิตรกรรม ประติมากรรมชิ้นดี ๆ

 

sk4

 

อาจารย์เสนอมีวิธีการสอนอย่างไรครับครู


ที่สำคัญคือเวลาดูของเก่าอาจารย์ก็จะคอยชี้ให้ดูว่าอันนั้นคืออะไร? อันนี้คืออะไร? อย่างนี่เป็นศิลปะแบบสมัยทวารวดีนะ พระพุทธรูปทวารวดีเนี่ยมันเป็นยังไง? อย่างไร? ปากหนา ๆ ตาโปน ๆ คิ้วโก่งงอเป็นปีกกา เธอดูองค์นี้เป็นแบบลพบุรี ลักษณะดูเข้มแข็งดุดัน สมัยอู่ทองต้องมีไรพระศก เม็ดพระศกเล็กแหลม หน้าแข้งคมเป็นสัน แล้วนี่สมัยเชียงแสนรูปร่างอวบอ้วน วงแขนกางออก ปลายนิ้วกระดกขึ้นเห็นไหม? อะไรแบบนี้เยอะไปหมด แล้วหันมาถามครูว่าเธอว่าแบบไหนสวย? ดูให้ดีสิ พอบอกสุโขทัยสวย อาจารย์บอก “โง่” สวยทุกองค์ทุกสมัย ถ้าไม่สวยเขาจะสร้างเหรอ? ความสวยไม่ได้อยู่ที่เส้นสายที่เอาตากะใจเราไปวัด แต่มันอยู่ที่ความงดงามของมิติทางสังคมและวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาให้รับรู้ต่างหาก ทุกรูปแบบจึงมีคุณค่าในแง่ที่เป็นเรื่องบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นว่า สภาวะของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศาสนาเป็นยังไง? เพราะอะไร? อย่างพระพุทธรูปของไทยทำไมบางยุคสมัยนิยมแบบทรงเครื่อง พระเศียรสวมมงกุฎ? ดูแล้วจะบอกว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้โกนผมออกบวชได้อย่างไร? มันเป็นมิติทางวัฒนธรรมของสังคม ที่มีคติความเชื่อเรื่องพุทธาวตารและเทวาวตารร่วมกันบนจินตภาพของความเป็นกษัตริย์ไทย อันเป็นสาระสำคัญที่เกี่ยวโยงกับอุดมคติในเชิงจักรพรรดิราชร่วมกับบทบาทของความเป็นธรรมราชา

ครูฟังแล้วกระเจิงเลย มีความรู้สึกว่า โอโห! ทุกคำอธิบายเต็มไปด้วยความหมายที่ซับซ้อนมาก ทุกนัยล้วนน่าค้นหา รากทางวัฒนธรรมไทยมีความลุ่มลึกขนาดนี้เลยรึ?

ทุกอย่างที่ได้มาเห็นจึงเป็นอะไรที่อยู่นอกเหนือไปจากที่เรียนในชั้นทั้งนั้น ก็เลยยิ่งชอบไปกันใหญ่ แล้วก็บ่อยครั้งที่ครูศิษย์ 3 คนจะนั่งรถออกไปต่างจังหวัดกัน โดยมีอาจารย์วนิดา เป็นคนขับ เพื่อไปถ่ายรูปและเก็บข้อมูลโบราณสถานภาคสนามด้าน “สถาปัตยกรรมไทย” ซึ่งก็ถือเป็นประสบการณ์สำคัญสำหรับครูในการได้เรียนรู้ความหลากหลายของศิลปกรรมไทยอีกแขนงเพิ่มอย่างมาก ทั้งในเชิงรูปแบบ โครงสร้าง และองค์ประกอบต่าง ๆ

 

sk5

 

ตอนนั้นอาจารย์เสนอให้ครูฝึกและสร้างประสบการณ์ในการออกแบบอย่างไรบ้างครับ


นอกจากอาจารย์จะสอนแบบชี้แนะโดยตรงแล้ว บางครั้งยังแอบใช้วิธีให้ความรู้อย่างโบราณด้วย คือให้โจทย์แล้วไปศึกษาและสร้างความเข้าใจกับสิ่งนั้น ๆ ด้วยตัวเอง อย่างมีอยู่วันนึงอยู่ ๆ อาจารย์ก็มาบอกว่า “ฉันอยากได้แบบสถาปัตย์ของพระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศนัย เธอไป measure ให้ฉันหน่อย” พระที่นั่งองค์นี้น่าสนใจตรงที่เป็นอาคารหลังเล็ก ๆ แต่ฝีมือระดับช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งครูก็ไปรังวัดคนเดียว เลยทำให้ต้องไปทำความรู้จักและเข้าใจกับองค์ประกอบของตัวไม้ทุกชิ้นด้วยตัวเอง ทั้งตำแหน่งที่ตั้ง วิธีการประกอบ บทบาทหน้าที่ ความสัมพันธ์กับองค์ประกอบตัวอื่น ๆ แล้วยังต้องอาศัยวิธีเขียน Isometric สำหรับเช็คความเข้าใจของตัวเองตลอดแทบทุกจุด ว่ามันเข้าไม้กันอย่างนี้จริงมั้ย มันเจอกันแบบนี้จริงมั้ย แต่ทั้งหมดนั้นถือเป็นองค์ความรู้ครั้งสำคัญที่ครูได้มา จนทำให้ครูสามารถใช้ต่อยอดความคิดในการทำงานด้านสถาปัตยกรรมไทยได้

ดังนั้นจะว่าไปแล้วการมีครูที่ดีและวิเศษอย่าง อาจารย์เสนอ อาจารย์วนิดา รวมทั้งครูอาจารย์ทุกท่านในคณะที่สอนสั่งมา ล้วนสร้างให้ครูมีฐานความรู้มากพอที่จะส่งต่อให้นักศึกษารุ่นถัด ๆ มาได้จนบัดนี้

ส่วนประสบการณ์ในการออกแบบขณะที่เรียน ก็เวลานั้นเมืองไทยยังเน้นงานออกแบบก่อสร้างที่เป็นแบบสมัยใหม่อยู่ นักศึกษาส่วนใหญ่เลยเน้นหาประสบการณ์ในการฝึกมือทางด้านนี้เกือบทั้งนั้น ครูเองอยากทำทั้งทางไทยและทางสมัยใหม่ แต่ทางไทยหาทำได้ยากมาก จะมีโอกาสอยู่บ้างก็จากอาจารย์เสนอที่ให้ช่วยทำโน่นนิดนี่หน่อย อย่างเช่น อาจารย์ต้องเตรียมสอน ก็ให้ช่วยเขียนแบบเจดีย์หรือปรางค์ให้ หรือถ้าต้องไปพูดสัมมนา อย่างเช่น ตอนไปพิษณุโลก ก็ให้ช่วยเขียนผังวัด อาคารวิหารพระพุทธชินราช อะไรพวกนี้ เขียนเสร็จเอาให้ดู ถ้ามีผิดหรือเพี้ยนไปตรงนั้นตรงนี้ก็จะแก้ให้ เราเลยเหมือนค่อย ๆ ได้เพิ่มทักษะในมิติทางสถาปัตยกรรมไทยขึ้นบ้าง แม้จะดูไม่ต่อเนื่อง ขาด ๆ เกิน ๆ

 

sk6

 

ครูช่วยเล่าถึงประสบการณ์การออกแบบ ที่อาจารย์เสนอ และอาจารย์วนิดาสอนให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ

ครั้งที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อครูมากที่สุดก็คือตอนอยู่ปีสาม อาจารย์เอางานเรือนไทยล้านนาที่จะสร้างจริงมาให้ครูเขียน ครูตกใจ บอกไม่เอา ไม่กล้าเขียน เพราะตอนนั้นเพิ่งเริ่มเรียนเรือนไทยใหม่ ๆ พอดีอาจารย์วนิดานั่งอยู่ด้วย ท่านบอกว่า “สมคิดต้องฝึกทำ ไม่เป็นไร ครูอยู่ ไม่ได้ตรงไหนมาถามครูได้” ครูก็เลยรู้สึกว่าเมื่อมีครูอาจารย์ช่วยหนุนขนาดนี้แล้ว ไม่เห็นต้องกลัวอะไรอีก? เอาก็เอาว่ะ เลยรับเขียนให้ อาจารย์เสนอส่งสเก็ตซ์มาว่าจะเอาขนาดเท่านี้ มีพื้นที่ใช้สอยส่วนนั้นส่วนนี้ มีรายละเอียดยังไง? ครูก็รับช่วงเขียนแบบสถาปัตย์ต่อ

จำได้เลยพอเขียนเสร็จ เอาไปให้อาจารย์ตรวจ ได้ยินอาจารย์พึมพำว่าไม่เอาไหน ใช้ไม่ได้ ท่วงทีของ proportions ยังไม่เป็นเหนือ ว่าแล้วก็หยิบดินสอมาขีด ๆ ให้ พอครูลองเอา scale วัดดู ระยะงี้ลงเป๊ะเลย อาจารย์เสนอนี้แม้จะไม่ได้เรียนสถาปัตย์มา แต่ด้วยความที่ท่านชอบและแม่นยำในทางวาดรูป รวมทั้งมีฐานความรู้ทางศิลปะสถาปัตย์ฯ ประกอบกับประสบการณ์ทำงานจริงที่กรมศิลปากรมาก่อน ครูว่าทำให้อาจารย์เป็นยิ่งกว่าสถาปนิก คือ ไม่เพียงมีความเข้าใจในศาสตร์และศิลป์ทางสถาปัตย์ไทย ทั้งมีฝีมือทางการขีดเขียนเส้นสายอย่างดีแล้ว ยังมีสายตาที่แม่นยำในการมองมิติของสัดส่วนอย่างมากด้วย (อาจารย์เรียนที่คณะจิตรกรรม 2 ปี ก่อนย้ายไปเรียนต่อที่คณะโบราณคดีจนจบปริญญาตรี แล้วจึงมาต่อทางสถาปัตยกรรมไทยขั้นสูงที่คณะสถาปัตย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกสาย) ทำให้ไม่แปลกใจว่าเวลาจะไปไหนกับอาจารย์ อย่างไปดูโบราณสถานกัน ก็จะได้รับสาระความรู้ทั้งในมิติทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ความงดงามของศิลปะประดับตกแต่ง ความเข้าใจในเชิงรูปแบบและสัดส่วนทางสถาปัตยกรรม โดยมักอธิบายให้เห็นเป็นภาพที่ชัดเจน

อย่างคำพูดที่ว่าเธอดูนะเห็นไหม? เส้นทรงองค์นี้มัน “ชม้อย” พอเหมาะ, หรือหลังคาดู “แจ้” มาก, หรือช่วงเรือนมัน “ผาย” เกิน, หรือตรงบ่าดู “ลู่” ไปหน่อย ฯลฯ อะไรทำนองนี้ ซึ่งเป็นศัพท์แบบคำไทยโบราณที่อาจารย์มักใช้กำกับเวลาอธิบาย จนครูจำเป็นจินตภาพได้อย่างติดหูติดตามาถึงทุกวันนี้

 

sk7

 

อุปกรณ์ที่ติดตัวอาจารย์เสมอคืออะไรครับ

สำหรับตัวครูแล้ว น่าจะได้ตรงเชิงสายตาในการมองสัดส่วน ซึ่งรับตกทอดจากอาจารย์เสนอ แต่ไม่แม่นยำเท่าอาจารย์ และไม่มีสูตรตายตัวเหมือนอาจารย์

อย่างตอนนี้ลูกศิษย์ที่เห็นงานออกแบบของครู ชอบถามว่าทำไมหลังคาทรงแบบนี้ ใช้สัดส่วนยังไง? ครูบอกไม่รู้ครูชอบของครูอย่างนี้ เพราะไม่ได้ค้นคว้าเรื่องระเบียบกฏเกณฑ์มาอย่างจริงจัง ใช้แค่วิธีดูเอา เข้าใจเอาง่าย ๆ แล้วก็ตัดสินใจตามที่เห็นว่าดี

คงเพราะจำวิธีดูมาจากที่อาจารย์เสนอชี้แนะว่า อย่างนี้ชะลูดไป อย่างนี้ค่อมไป ตรงนี้เกร็งไป อะไรทำนองนี้ รวมถึงความรู้ความเข้าใจทางการรับรู้ในการออกแบบและจัดวาง อย่างเช่น อาจารย์อธิบายว่าทำไมพระพุทธรูปองค์นี้ต้องนั่งเอนหน้าเข้ามา ก็เพราะเวลาวางตั้งในที่สูงแล้ว มุมมองที่ย้อนขึ้นจะช่วยผลักให้ท่านดูนั่งตรง ไม่ล้มเอนไปข้างหลังนั่นเอง ฯลฯ

โดยเฉพาะประสบการณ์สำคัญที่จำจนตายก็คือ ตอนครูช่วยเขียนแบบสถาปัตย์ของโบสถ์วัดสะแล่ง ที่จังหวัดแพร่ อาจารย์ย้ำตลอดว่าเธออย่าทำฐานเตี้ยนะ ครูก็รับรองว่าไม่เตี้ยแน่นอนครับ พอแบบเสร็จเอาไปให้ดู เท่านั้นเองได้รับคำสรรเสริญออกมาชุดใหญ่ว่า เธอนี่ “หยิ่ง ดื้อ โง่ บ้า อวดดี” มีครบ คิดว่าพอเป็นสถาปนิกแล้ว ไม่ต้องฟังฉันรึไง? เก่งเป็นเทวดาแล้วใช่ไหม? ครูงี้ต้องรีบหาวิธีแก้ในบัดดล ด้วยวิธีกดพื้นทางเดินลงเพื่อเสริมฐานให้สูงได้มากขึ้นกว่าเดิม พองานสร้างเสร็จยอมรับเลยว่าสัดส่วนมัน “แฉล้ม” พอดีเป๊ะอย่างที่อาจารย์เตือนไว้ก่อนจริง ๆ

 

sk8

 

อยากฝากอะไรถึงลูกศิษย์บ้างครับครู

การจะเรียนด้านสถาปัตยกรรมไทย สำหรับครูเองสิ่งสำคัญที่สุด คิดว่านอกจากทักษะทางการฝึกมือให้ช่ำชองแล้ว องค์ความรู้ทาง “ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม” ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะประวัติศาสตร์คือคลังความรู้ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องราวของอดีตอย่างที่ว่ามาแล้ว เพื่อให้รู้ว่า ณ เวลานั้นเขาคิดอะไรกัน? คิดต่ออย่างไร? และมีอะไรเป็นต้นคิด? แล้วอะไรคือเหตุปัจจัยหลักทางความคิดนั้น? หรืออะไรมีบทบาทในเชิงอิทธิพลต่อบริบททางสังคม การเมือง หรือวัฒนธรรม จนก่อเกิดเป็นการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมชิ้นนั้นๆขึ้นมา

แต่ครูสังเกตว่าปัจจุบันนักศึกษาสถาปัตยกรรมเองกลับให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้น้อยลง หรือพูดได้ว่ากำลังละทิ้งไปด้วยซ้ำ ซึ่งส่งผลชัดเจนตรงที่พอจะลงมือออกแบบเลยไม่รู้ว่าต้องเอาอะไรมาใช้เป็นต้นคิด

จึงอยากเตือนให้ลูกศิษย์รุ่นหลัง ๆ ได้หันมาตระหนักสิ่งที่ว่านี้มากขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องรวมไปถึงความตั้งใจที่จะเรียนรู้รายวิชาอื่น ๆ ทั้งหมดประกอบกันเป็นองค์รวมด้วย พร้อมกันนี้ก็อยากฝากให้ลูกศิษย์ที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ลองมองหาเส้นทางสายใหม่สำหรับนำมาใช้กับการเรียนการสอนในสังคมโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพื่อว่าทั้งลูกศิษย์กับอาจารย์จะได้เดินร่วมกันไปบนวิถีใหม่ที่เหมาะสมกับปัจจุบันและอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ เพราะครูคิดว่าลูกศิษย์ทุกคนโชคดีมากที่นอกจากจะได้มาอยู่ในสถานศึกษาที่ดี มีบริบทแวดล้อมที่ช่วยหลอมรวมความรู้สึกทางใจที่ดีแล้ว

ถ้ายิ่งมีครูอาจารย์ที่เป็นทั้งต้นแบบอย่างดีและเอื้อหนุนให้นักศึกษามีรากฐานของกรอบความรู้ที่แข็งแรงในระดับหนึ่งด้วยแล้ว ก็ย่อมทำให้องค์ความรู้ในการใช้ประกอบวิชาชีพสายนี้เป็นไปอย่างมั่นคงและทรงคุณค่าด้วยหลักวิชาอันสมบูรณ์

 

#archsu  #silpakorn  #สถาปัตยกรรมไทย  #สถาปัตย์ไทย  #สถาปัตย์ไทยศิลปากร  #สถไทย