มาทำความรู้จักความเป็นมาของ "มรดกโลก" กันเถอะ

[ มรดกโลก ตอน 1 ]


กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

 

 

 

มนุษยชาติเดินทางผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ยุคโบราณเหล่านั้นยังตั้งถิ่นฐานสัมพันธ์กับธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างใกล้ชิด จวบจนกระทั่งสมัยประวัติศาสตร์มนุษย์สั่งสมประสบการณ์ เรียนรู้ และเริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมมาจนกระทั่งปัจจุบันสมัยของพวกเรา วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของแนวคิดการอนุรักษ์และการจัดการมรดกโลก ซึ่งดำเนินงานและให้การรับรองผ่าน องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ UNESCO

 

 

ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา มนุษยชาติได้สูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากด้วยสาเหตุแห่งสงคราม  เนื่องจากสงครามในโลกสมัยใหม่นั้นมีอานุภาพทำลายล้างมากกว่าสงครามในโลกยุคโบราณหลายเท่าตัว  เมืองประวัติศาสตร์ในยุโรปจำนวนมากได้รับผลกระทบจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิ ปารีส ลอนดอน เป็นต้น  รวมทั้งในคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คู่ขัดแย้งกว้างขวางส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก ซึ่งมีเมืองประวัติศาสตร์ในยุโรป เอเชีย  และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก เช่น เมียนมา ที่ได้สูญเสียพระราชวังมัณฑะเลย์ลงจากการโจมตีทางอากาศในสงคราม  เมืองต่างๆ ในโปแลนด์ที่พังทลายลงเป็นจำนวนมากจากการโจมตีทางอากาศ และภาคพื้นดิน หรือแม้กระทั่งเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิที่ได้สิ้นสูญลงด้วยภัยจากสงครามและปรมาณูในครั้งสงคราม โลกครั้งที่ 2  ด้วย จากผลกระทบจากสงครามอันเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของมนุษย์ที่ไม่น่าจดจำ ด้วยได้ทำลายล้างผู้คน  ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมทว่าจำเป็นต้องบันทึกไว้เป็นบทเรียนเพื่อแสวงหาวิธีในการป้องกันไม่ให้เหตุอันรุนแรงนั้นเกิดขึ้นอีกในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

 


นอกจากนี้ ไม่แต่เพียงสงครามในระดับมหภาคที่ส่งผลต่อความเสียหายให้กับมรดกทางวัฒนธรรม สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ที่บ่อยครั้งที่ได้ยึดเอาแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรมเป็นหลักประกันซึ่งได้รับผลกระทบมากมาย  สภาวการณ์ที่ไร้ระเบียบภายใต้ผลกระทบจากสงครามยังนำพาให้เกิดการโจรกรรมโบราณวัตถุจากโบราณสถานที่ถูกทิ้งร้างอีกด้วย สภาวการณ์สงคราม และการไร้สันติภาพทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมากมาย  เหตุอันควรวิตกกังวล ดังกล่าวนำมาซึ่งการกำหนดท่าทีระหว่างกันของนานาอารยประเทศในช่วงเวลาภายใต้สภาวะแห่งสงคราม ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้เริ่มต้นการร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่ขึ้น  เพื่อพิทักษ์มรดกของมนุษยชาติในสภาวะการณ์แห่งสงคราม ซึ่งเริ่มต้นครั้งแรกใน วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2497 | ค.ศ.1954 นั่นคือ “อนุสัญญาสำหรับการคุ้มครองสมบัติทางวัฒนธรรมในกรณีที่มีความขัดแย้งทางอาวุธ (the Convention for the Protection of Cultural Property in the Event of Armed  Conflict)” ซึ่งรู้จักกันในนามของ “อนุสัญญากรุงเฮก ปีค.ศ. 1954 (1954Hague Convention)” โดยมีพื้นฐานแนวคิดว่า “ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมบัติทางวัฒนธรรมซึ่งไม่ว่าจะเป็นของผู้ใด นับตั้งแต่ใครคนใดคนหนึ่ง ได้สร้างสรรค์งานชิ้นนั้นและเผยแพร่สู่สาธารณะ นั่นก็คือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับมรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ

 


ภาพกองกำลังทหารขณะใช้แหล่งโบราณสถานนครวัด ประเทศกัมพูชา เป็นฐานที่มั่นในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา

 

 

ภาพแหล่งโบราณสถานแพลไมรา ในซีเรียถูกทำลายจากสงคราม ในปี พ.ศ. 2558 | ค.ศ. 2015

 


หลังจากนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ส่งผลให้เกิดหมุดหมายความร่วมมือในระดับนานาชาติในการใช้แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการมรดกของมนุษยชาติ คือ กรณีการย้ายแหล่งโบราณสถาน “มหาวิหารอัมบูซิมเบล และ
ไฟเล (The Temple Complexes of Abu Simbel and Philae)” โดยเร่งด่วน เนื่องจากในปี พ.ศ.2502 | ค.ศ.1959 รัฐบาลอียิปต์และซูดานตัดสินใจพัฒนาโครงการชลประทานครั้งใหญ่ ผ่านโครงการสร้างเขื่อนอัสวาน (Aswan High Dam)  ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นอียิปต์และซูดานได้รับแนวคิดจากการพัฒนาขึ้นหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในโลกฟากตะวันตกที่ทำให้เกิดการสร้างและเพิ่มพูนปัจจัยในการผลิตให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่การพัฒนาดังกล่าวกลับต้องแลกด้วย  การก่อให้เกิดทะเลสาบเหนือเขื่อนผืนใหญ่มหึมาท่วมทับหุบเขาแห่งลุ่มน้ำไนล์ตอนบนและท่วมทับเหนือแหล่งโบราณคดีจำนวนมากมายที่ยังไม่มีการสำรวจต้องจมหายไปใต้บาดาลตลอดกาล

 


กรณีศึกษาของการสร้างเขื่อนอาสวานนั้นแม้ว่ารัฐจะเลือกตัดสินใจสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนา หวังจะให้โครงการดังกล่าวชุบชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ผู้คนได้  แต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนั้น กลับส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีใน “วัฒนธรรมนูเบีย (Nunia)” ซึ่งมีอายุราว 3,500 ปี ก่อนคริสตกาลให้จมอยู่ใต้โลกบาดาล  ในการนี้รัฐบาลของอียิปต์และซูดานจึงได้ดำเนินการร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติผ่าน “องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations  Educational, Scientific and Cultural Organization)” หรือที่เรียกชื่อย่อว่า “ยูเนสโก (UNESCO)” ส่งผลให้ต่อมาในปี พ.ศ.2503 | ค.ศ.1960 ผู้อำนวยการสามัญขององค์การยูเนสโก  ได้เรียกร้องให้รัฐภาคีสมาชิกเข้าให้ความช่วยเหลือในโครงการรักษาแหล่งโบราณคดีของนูเบีย ซึ่งได้ลงมติให้มีการย้ายมหาวิหารทั้งสองขึ้นไปตั้งไว้บนหน้าผาที่พ้นจากระดับที่น้ำท่วมถึง รวมไปถึงมีการก่อตั้งหน่วยงานความร่วมมือที่มุ่งบริหารจัดการแหล่งอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ รวมถึงการพิพิธภัณฑ์และการสื่อความหมายทางวัฒนธรรม  อย่างไรก็ดี ในภายหลังแม้ว่าโครงการรื้อย้ายแหล่งโบราณคดีมหาวิหารอัมบูซิมเบลและไฟเลในครั้งนั้นจะประสบความสำเร็จอย่างสูง ทว่า ณ วันนี้ หลังจากที่ประชุมนานาชาติอิโคโมส ครั้งที่ 15 ณ เมืองซีอาน ประเทศจีน  ซึ่งมีประเด็นที่พิจารณาหารือและผลักดันการประกาศแนวทางการอนุรักษ์ที่ว่าด้วยเรื่อง “ที่ตั้ง (Setting)” ออกมา เพระฉะนั้น ในวันนี้ที่กระบวนทัศน์ของการอนุรักษ์มีความเปลี่ยนแปลงไป  การไม่พิจารณารื้อย้ายก็กลายเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสมสำหรับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอีกต่อไป

 

 

กรณีศึกษาการย้ายที่ดั้งโบราณสถาน “มหาวิหารอัมบูซิมเบล และไฟเล (The Temple Complexes of Abu Simbel and Philae)” อย่างเร่งด่วนครั้งนั้นได้ส่งผลให้องค์การยูเนสโกใช้กลไกของธรรมนูญภายใต้ข้อบัญญัติที่กำหนดให้มีภารกิจในการปกป้องคุ้มครอง การศึกษาความรู้ และเผยแพร่ความรู้ในการอนุรักษ์และคุ้มครองป้องกันมรดกของมนุษยชาติ  ในการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศในการประชุมใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส  โดยที่ประชุมมีมติให้ก่อตั้งกลไกในการดำเนินงาน และมีมติรับรอง “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก ทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage)” ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 | ค.ศ.1972  โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามรดกของมนุษยชาติทั้งมรดกทางธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการมองโลกอย่างเป็นองค์รวมระหว่าง  “มนุษย์” กับ “สิ่งแวดล้อม” ภายใต้แนวคิดของ “มรดกแห่งมวลมนุษยชาติ” อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเสนอชื่อแหล่งมรดกโลกนั้นกลับจำแนกออกเป็นแหล่ง “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” และ “มรดกโลกทางธรรมชาติ”  ซึ่งในสัปดาห์หน้าเราจะมาลงรายละเอียดถึงการจำแนกดังกล่าวกัน

  • Hits: 882