เห็นความเป็นสาธารณะอยู่ข้างในนั้นหรือไม่ ?

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงหนาท แสงสีหนาท

 

หากเราเคลื่อนย้ายความคิดเล็กน้อย ไม่มองวัตถุเป็นแค่วัตถุ ไม่มองหน้าอาคาร (façade หรือที่เรียกเป็นไทยอีกคำว่าเปลือกอาคาร) เป็นแค่เปลือก แต่มองหน้าอาคารให้เป็น “ความสัมพันธ์” เราอาจมองเห็นสาระต่างๆ ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป

หน้าอาคารคือความสัมพันธ์ระหว่างข้างในกับข้างนอก คือเส้นขอบระหว่างพื้นที่ของเรากับพื้นที่ของสาธารณะ คือเส้นขอบระหว่างบ้าน (หรืออาคาร) กับเมือง คือส่วนหนึ่งแห่งความทับซ้อน/เชื่อมโยง/เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างของฉันกับของส่วนร่วม ในมิตินี้แล้วเราก็จะเห็นว่า “หน้าอาคาร” เป็นเรื่องเดียวกันกับ “ความเป็นสาธารณะ” หน้าอาคารเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์สาธารณะ และหน้าอาคารโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบความมีชีวิต ความเป็นและความตายของเมือง

หน้าอาคารจะสวยหรือไม่ขึ้นกับว่าใครมอง แต่คุณค่าของหน้าอาคารอยู่ที่ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหรือไม่

 

blog อ 0.สิงหนาถ 200804 1024x651

 

1) หน้าอาคารคือบริบท (Context) : เมืองต้องการหน้าอาคารที่สวยงาม และเมื่อเรามองว่าหน้าอาคารไม่ใช่เพียงเปลือก แต่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์สาธารณะแล้ว ความงามนั้นก็ถูกเคลื่อนย้ายจากเส้นขอบอาคารไปสู่โลกภายนอก ความงามที่ถูกประเมินจากโลกทัศน์ รสนิยม และความคาดหวังซึ่งไม่ใช่เจ้าของอาคารแต่กลับเป็นผู้คนในละแวก เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า ผู้คนต้องการเห็นอาคารแบบไหนจากถนน-จากทางเท้า-จากชุมชน อาคารมีส่วนช่วยสร้างการจดจำ รับรู้ทิศทาง และสร้างความภูมิใจให้แก่ละแวกนั้นได้ หน้าอาคารอันเป็นสาธารณะต้องกลมกลืนกับบริบท แต่แน่นอนว่าก็โดดเด่นได้ด้วย “ความสง่าอยู่ในที” แต่ไม่ใช่โดดและเด่นอย่างแปลกแยก (แบบหลังนี้เราเรียกว่า alien)

2) หน้าอาคารคือการตอบสนอง (Responsiveness) : เมืองต้องการหน้าอาคารที่ตอบสนองและเป็นมิตร เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าหน้าอาคารเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเมือง เปลือกของอาคารจึงต้องเชื่อมโยงกิจกรรมจากในอาคารไปสู่ภายนอก สร้างความมีชีวิตให้แก่ผู้เดินผ่านรายทางริมถนน หน้าอาคารของเราช่วยให้ผู้คนตามถนนหนทางรู้สึกปลอดภัยขึ้นได้ สร้างความรู้สึกอุ่นใจในการเดินผ่านไปมาได้ มันเสนอกิจกรรมอะไรๆให้แก่สาธารณะได้ไม่ว่าการให้ผู้คนมอง นั่ง ยืน เดิน หรือสัมผัส แล้วหน้าอาคารของเรานั้นน่ามอง น่านั่ง น่ายืน น่าเดินผ่าน น่ารู้สึกถึงจากสาธารณะหรือไม่ สิ่งที่กำลังกล่าวถึงนี้หยั่งลึกลงไปในการตอบสนองของหน้าอาคาร (กล่าวอีกนัยว่าเปลือก) ต่อการดำรงอยู่ทางร่างกายและจิตใจของผู้คนนอกอาคาร

3) หน้าอาคารคือการสรรค์สร้างพื้นที่ (Placemaking) : เมืองต้องการหน้าอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง หน้าอาคารคือความเป็นเมือง เพราะมันคือหนึ่งในชุดประสบการณ์การรับรู้เมือง เป็นบริบทเป็นสภาวะที่แวดล้อมรอบตัวเราในขณะที่เรายืนหรือเดินเหินอยู่ในเมือง เปลือกของอาคารร่วมสร้างอาณาบริเวณสาธารณะ (public realm) ที่ดีได้ และหากกระทำเช่นนั้นได้ อาคารนั้นก็ย่อมสร้างความรู้สึกผูกผันอย่างแยบยลระหว่างคนกับเมือง และมันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพจำ ภาพแทน และอัตลักษณ์ของสังคมในทันที

: ผู้คนมีความพึงพอใจรูปด้านอาคารที่มีรูปทรงซึ่งมีจังหวะจะโคน มีการปิดล้อมพื้นที่สาธารณะ มีการใช้วัสดุ สี และรายละเอียดที่น่าสนใจในระดับชั้นล่าง ตอบสนองคนเดินเท้าริมทาง มีหน้าต่างสร้างความสัมพันธ์ภายในและนอกอาคาร ไปจนถึงการมีลานนั่งเล่นหน้าอาคารและมีพื้นที่สีเขียว (ผลการศึกษา Visual preference survey โดย Clark country ประเทศสหรัฐอเมริกา, 2007) :

 

blog อ 1.สิงหนาถ 200804 1024x682

 

มาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่า เรากำลังพูดถึงหน้าอาคารที่ก้าวข้ามเรื่องของการครอบครอง แต่เป็นเรื่องของหน้าอาคารในขอบเขตความรับผิดชอบที่มีต่อเมือง เป็นส่วนหนึ่งของเมือง และทุกคนมีส่วนกำหนดความเป็นและความตายของชีวิตเมืองจากเปลือกอาคาร

 

blog อ 2.สิงหนาถ 200804 1024x682

 

หน้าอาคารคือสาธารณะ ความเป็นสาธารณะสะท้อนอยู่ในหน้าอาคาร

 

blog อ 3.สิงหนาถ 200804 586x1024

 

หมายเหตุ: ความสำคัญของหน้าอาคารที่มีต่อความเป็นเมืองพบได้ในงานเขียนของ Jane Jacobs และ Jan Gehl

 

 

#archsu #landscape #mlasu #udpsu #urbandesign #urbanplanning #สถาปัตย์ศิลปากร