ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นนท์ คุณค้ำชู

 

เราอยากจะผลิตเด็กที่มีความเก่งเฉพาะตัวจริง ๆ ซึ่งมันมีหลากหลายมิติมากและต้องรู้จริงด้วย และนักศึกษาที่จบไปต้องมี Skill ของนักคิด และนักทำติดตัวไปด้วย

 

ความเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความเป็นเด็กสถาปัตย์ ความเป็นเรา คืออะไร

วันนี้มีโอกาสได้พามาพูดคุยกับ คณบดีของเรากัน

ท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นนท์ คุณค้ำชู

 

ที่พูดคุยผ่านเลนส์ของอาจารย์คณบดี ทั้งมุมมอง และการพัฒนาต่อของคณะ หรืออะไรคือความเป็นเรา อีกทั้งมุมสบายๆ ในรั้ววังท่าพระแห่งนี้ ที่สถาปัตย์ ศิลปากร

 

n1

 

 

อาจารย์ช่วยเล่าถึง Background ให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ


ผมเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี 2534 รุ่น 37 ทั้งรุ่นมีประมาณ 50 คน เมื่อได้เข้ามาเรียน ก็ได้เรียนรู้ว่าในสายวิชาชีพที่เราเรียน สามารถต่อยอดได้หลากหลายแขนงไม่ใช่แค่การออกแบบ ได้เห็นภาพกว้างขึ้น ว่ามีอาชีพอื่น ๆ ที่สถาปนิกทำได้ ซึ่งผมคิดว่าการเรียนสถาปัตย์ที่ดีต้องเป็นได้ทั้งนักคิดและนักทำ จนพอเรียนจบ ก็ได้ออกไปทำงานดูแลทางด้านการก่อสร้างได้สักพัก

ในช่วงนั้นพอดีที่คณะมีทุนพัฒนาสาขาขาดแคลน ซึ่งมีสาขา Constructions Management เปิดอยู่ก็เลยมาสอบ ผลออกมาว่าสอบผ่าน เลยลาออกจากงานที่ทำมาเป็นอาจารย์ที่นี่ โดยเริ่มต้นเป็นผู้ช่วยในการสอนอยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อเตรียมตัวไปเรียนต่อประมาณ 1 ปี จากนั้นไปเรียนปริญญาโท-เอก ที่สหรัฐอเมริกาอยู่ 8 ปี

เมื่อเรียนจบก็กลับมาช่วยงานมหาวิทยาลัยเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวางแผนและพัฒนาอยู่ช่วงหนึ่ง ทำงานด้านวิชาการ ก็มาถึงวันนี้จนเป็นคณบดี รวมแล้วประมาณ 30 ปี

 

 n2

 

ความเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คืออะไรครับ


สำหรับตัวผม สิ่งแรกที่ผมรับรู้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาเรียนเลยมันคือ อัตลักษณ์ความเป็นไทย เมื่อเป็นนักศึกษาจึงตระหนักว่าที่มหาวิทยาลัยหรือคณะของเราพยายามปลูกฝังให้แก่นักศึกษาทุกคน นั่นคือความคิดสร้างสรรค์ และผมเชื่อเสมอว่าคณะปลูกฝังให้เราเป็นนักคิด ไม่ว่าจะคิดแก้ปัญหา หรือคิดเพื่อสร้างงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ด้วยวิชาชีพและกระบวนการเรียนรู้ของเราที่เป็นแบบ Problem solving เราสามารถเอาตัวรอดเมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ เพราะเราจะมีกระบวนการคิดแก้ปัญหาที่เป็นระบบ

ถ้าสังคมมอง ผมว่าเค้าน่าจะมองว่าเราเป็นไทย แต่ในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์เนี่ยเค้าสัมผัสได้มากน้อยแค่ไหน มันอยู่ที่เราพยายามผลักออกไปได้มากแค่ไหน

ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ในปัจจุบัน เรากำลังพยายามปรับภาพลักษณ์เพื่อให้สังคมรับรู้ว่าว่าเราไม่ใช่ไทยโบราณ เรามีทั้งไทยร่วมสมัย ไทยประเพณีเป็นฐาน เพื่อรอรับการต่อยอด แต่ในขณะเดียวกันเราก็นำเอาเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้ผลงานน่าสนใจขึ้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อออกไป

 

n3

 

อาจารย์มีภาพของคณะในอีก 4 ปีข้างหน้า อย่างไรครับ


แน่นอนเราต้องผลิตบัณฑิต ผลิตสถาปนิกที่ไปตอบโจทย์สังคมแน่ ๆ และต้องเป็นคนที่มีคุณภาพซึ่งมีความ Creativity และมีความเฉพาะตัว ในอนาคตหลักสูตรที่เราผลิตออกไปจะไม่ได้เรียนเฉพาะสิ่งที่คิดว่าสถาปนิกควรจะต้องเรียน แต่เรามองว่าต้องมีความหลากหลาย หมายความว่า เรียนที่เราแล้วหาก นักศึกษายังมีความสนใจในเรื่องของอาหาร เราก็สามารถผลิตสถาปนิกที่เก่งในการประยุกต์ศิลปะทางด้านอาหารเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมได้ ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเราและเปิดสอนในมหาวิทยาลัยทั้ง 14 คณะวิชา ผมคิดว่าเราสามารถที่จะ Customize วิชาเรียนต่าง ๆ ให้ตรงกับความชอบของผู้เรียนได้ ด้วยความที่เรามี Core เป็นสถาปนิก เป็นดีไซน์เนอร์ เราสามารถออกแบบวิชาเรียนให้มีความ Special หลากหลายด้านขึ้นอยู่กับสาขาวิชาที่เรามีอยู่ อันนี้เป็นมุมมองที่ผมคิดว่าในอนาคตน่าจะไปทางนั้น ต่อไปการเรียนอาจจะไม่ Fix เป็น Module เป็นรายวิชา ชุดวิชา แต่อาจจะมี วิชา Core ที่จะต้องจบเพื่อเป็นสถาปนิก และมีวิชาเลือกที่หลากหลายที่ให้ผู้เรียนได้เลือกตามความสนใจ เมื่อเรียนครบตามหน่วยกิตที่กำหนด ก็จะได้ใบปริญญา

เราอยากจะผลิตเด็กที่มีความเก่งเฉพาะตัวจริง ๆ ซึ่งมันมีหลากหลายมิติมากและต้องรู้จริงด้วย และนักศึกษาที่จบไปต้องมี Skill ของนักคิดและนักทำติดตัวไปด้วย

สำหรับปัญหาที่เรารู้อยู่คือ ประชากรลดลง สิ่งที่คณะเรามองเห็นคือว่า นักเรียน นักศึกษา ต้องถูกตีความใหม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเด็ก ม.6 ที่เพิ่งจบ บางทีเป็นรุ่นพี่ หรือใครที่อยากกลับมาเรียนเพื่อ reSkill ในบาง Skill

 

ตอนนี้ที่คณะเราทำสองอย่างคือ

1) บางวิชาเปิดให้คนข้างนอกเข้ามาเรียน และ

2) คณะจะสร้าง Short course พิเศษที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศทุกวัยได้ให้เข้ามาเรียน เมื่อเลือกเรียนแล้วสามารถเก็บเป็น Credit bank ได้ วันดีคืนดีเก็บครบแล้ว ก็สามารถสมัคร เข้าหลักสูตร และเก็บอีกไม่กี่ตัวก็จบหลักสูตร ได้ปริญญาอีกใบ มันจะ Flexible มาก ๆ เหมือนกับการการขายรถในปัจจุบัน เรารู้อยู่แล้วรถรุ่นเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน หน้าตาก็จะเหมือน ๆ กัน เราจะทำอย่างไร เพื่อขายของ mass product ให้คนซื้อไม่รู้สึกว่าซื้อของโหล แนวคิดของผมก็คือ เราต้องปล่อยให้ผู้เรียนมีอิสระ สามารถ Customize วิชาเรียนเองได้ ชอบดนตรีก็เอามาใส่ ชอบอาหารก็นำมาใช้ ใครจะรู้ในอนาคตจะเกิดอาชีพอื่น ๆ ขึ้นอีกมากมาย นี่อาจเป็นหนึ่งในอาชีพใหม่นั้น

 

n4

 

อาจารย์คิดว่าที่วังท่าพระนี้มีความพิเศษอย่างไร ในด้านโลเคชั่น


เวลาใครจบหรือจากคณะไปนาน ๆ ทุกคนจะบอกเสมอว่า คิดถึงวังท่าพระ คุณลองนึกภาพคุณขึ้นไปบนสตู มองไปทางขวาจะเห็นวัดมหาธาตุซึ่งสวยงามมาก เวลาเรียน Drawing Painting มุมนี้จะถูกวาดเสมอ เวลาเราถ่ายรูปแล้วส่งไปทุกคนก็จะนึกออก ทุกคนจะจำได้ว่าตอน 6 โมงเย็น จะมีเสียงระฆังวัดดังขึ้น มันเป็น Character หนึ่ง หากเดินขึ้นไปบนดาดฟ้าของคณะมองออกไปก็จะเห็นพระบรมมหาราชวัง คุณคิดว่าพื้นที่ในกรุงเทพตรงไหนบ้างที่มีมุมมองดีขนาดนี้ เราอยู่ใกล้สนามหลวง มีงานอะไรเราก็มาดูได้

อีกอย่างผมเชื่อคำที่ว่า ‘น้ำหยดลงหินทุกวัน หินมันยังกร่อน’ นี่ก็เหมือนกัน เราเดินผ่านสถาปัตยกรรมชั้นยอดตลอดเวลา มันติดเข้าไปในตัวของผู้เรียน เวลาเราคิด หรือเราทำอะไร มันจะเป็นอัตโนมัติที่เราจะมีความสุนทรีย์ที่ถูกปลูกฝังไปโดยไม่รู้ตัว อย่างที่หลาย ๆ คนพูดว่าการเรียนสถาปัตย์ ต้องไปอยู่ ไปดู ต้องไปรู้สึก เราโชคดีขนาดไหนที่ได้มาเรียนในสภาพแวดล้อมชั้นเยี่ยมขนาดนี้

พื้นที่นี้เป็นรากเหง้าเป็นต้นแบบของทั้งประเทศ ซึ่งนอกจากนั้น เรามีชุมชนหลาย ๆ แห่งอยู่รอบเรา เราได้เห็นวิถีชีวิต ได้เข้าใจความเป็นไทยได้ชัด อาจจะอยู่ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในงานดีไซน์ ซึ่งมันมีเสน่ห์บางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น

 

n5

 

อุปกรณ์ที่อาจารย์พกติดตัวอยู่ตลอดเวลา คืออะไรครับ

 

ถ้าเป็นสมัยใหม่คงต้องบอกว่าโทรศัพท์มือถือ แต่ที่การเป็นสถาปนิกแล้วมีอุปกรณ์ที่พกติดตัวตลอดเวลาสำหรับผม คือดินสอ หรือปากกา

คุณเคยสังเกตุมั้ยว่าเด็กคณะนี้อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ มันต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องขีด ต้องสเก๊ตช์ ผมว่านี่แหละ คือสิ่งที่เราต้องมี แปลกนะผมชอบดินสอดราฟต์มาก ตอนเรียนผมก็เหมือนพวกคุณแหละ ใช้ดินสอไส้เล็กเลย แต่อันนี้มัน ไม่รู้สิ มันใช้งานได้สะดวก ตอบโจทย์ อยากจะขีดเขียน ระบายทึบทำได้หมด ส่วนปากกาก็พกไว้เพราะต้องเซ็นเอกสาร

ดินสออื่นมันบอบบาง บางทีเสก็ตช์มันเปราะ มันหัก เวลาเขียน เวลาสเก๊ตช์มันต้องใช้แรง

 

n6

 

อยากฝากอะไรถึงนักศึกษา หรือคณะนี้บ้างครับ


คณะเรามีประวัติศาตร์และมีความพิเศษมากมาย การที่คุณเข้าได้มีโอกาสเข้ามาเรียนในคณะนี้อย่างแรกเลยคุณต้องตระหนักว่าคุณได้โอกาสที่พิเศษ ต้องมีความภาคภูมิใจ ซึ่งได้เป็นลูกศิษย์ คุณต้องตระหนักตรงนี้ให้มาก ๆ คุณจะคิดทำสิ่งใดขอให้คิดถึงคณะ รุ่นพี่ ที่ได้ทำสิ่งต่าง ๆ ไว้ดีแล้ว เราต้องช่วยกันสืบสาน ยืดมันออกไป ถ้าคุณทำได้ดีคณะมันก็ไปต่อ แต่ถ้าไม่ดีคณะมันก็จะลงหรือจบ เราผ่านมา 60 กว่าปีแล้ว ถ้าเป็นคนก็คงเกษียณ แต่เราจะยังคงทำงานต่อไปเรื่อย ๆ

สังคม วิถีชีวิตทุกวันนี้มันเปลี่ยนไป แต่รูปแบบการเรียนสถาปัตยกรรมมันก็มีรูปแบบของมัน แน่นอนว่าในอนาคตรูปแบบมันอาจจะต้องเปลี่ยนไป ในวิชาที่คุณคิดว่าทำไมต้องเรียน ในอนาคตมันอาจถูกย่อยไปอยู่กับบางวิชา แต่มันไม่หนีไปไหนหรอก เพราะมันคือสิ่งที่จะต้องเรียนเพียงแต่มันจะถูกย่อย และ Re-package กลับมา เทคโนโลยีสมัยใหม่มันมาเร็ว

เราจะพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้พวกคุณอยู่แถวหน้า และคุณจะออกไปทำงานโดยที่ไม่มีใครมาว่าคุณได้ ในขณะเดียวกันขอให้คุณ ช่วยต่อยอดชื่อเสียงที่ดียิ่งขึ้นไป

และเราจะมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรต่อไป

ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของปรัชญาของคณะเรา ที่เป็นรากฐานของการออกแบบ